ทัวร์รอบคลองผดุงฯ

“งานบูรณาการ คลองผดุงกรุงเกษม” ม.5/3

ฝ่าย สังคม

โปรดเลือกสถานที่ที่ท่านสนใจ โดยนำ Cursor ไปชี้ ณ ตำแหน่งสถานที่ตั้งรูปสี่เหลี่ยม หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาดูหมายเหตุใต้ภาพ

คลองผดุงกรุงเกษม ตลาดเทเวศร์ วังเทเวศร์ สะพานเทเวศรนฤมิตร สำนัหงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สะพานวิศุกรรมนฤมาน คุรุสภา วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร โรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ กระทรวงศึกษาธิการ สหประชาชติประจำประเทศไทย สะพานมัฆวานรังสรรค์ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร โรงเรียนวัดโสมนัส วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ สะพานจตุรภัก๖ร์รังสฤษดิ์ กรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัท ทศท คอร์เปอเรชั่น สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ตลาดขายผลไม้มหานาค ตลาดโบ๊เบ๊ มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กระทรวงพลังงาน สะพานกษัตริย์ศึก โรงเรียนเทพศิรินทร์ วัดเทพศิรินทราวาส โรงเรียนสายปัญญา สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร สะพานพิทยเสถียร โรงแรม River City ท่าเรือสี่พระยา โรงบำบัดนำเสียสี่พระยา คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม สะพานเจริญสวัสดิ์

 

คลองผดุงกรุงเกษม (คลองคูพระนครชั้นนอก)

รูปภาพ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเห็นแม่กองอำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)  เป็นนายงานเพื่อขยายเขตพระนครให้กว้างขวางออกไป และเป็นปราการป้องกันพระนครชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง เริ่มตอนเหนือคลองที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้วัดเทวราชกุญชรผ่านคลองมหานาคไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าขณะนั้น (เดิมวัดแก้วแจ่มฟ้า อยู่หลังธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ เพิ่งย้ายไปตั้งที่ถนนสี่พระยาในรัชกาลที่ ๕) กว้าง ๑๐ วา ๖ ศอก ๑๓๗ เส้น ๑๐ วา สิ้นค่าจ้างขุดเป็นเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท ขุดสำเร็จในพ.ศ. ๒๓๙๕ พระราชทานนามว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” จากนั้นได้โปรดให้สร้างป้อมตามแนวคลองเป็นระยะ ห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม (ป้อมเหล่านี้รื้อลงในรัชกาลที่ ๕ เมื่อขยายเขตพระนครออกไปอีก)

ต่อมาเมื่อคลองผดุงกรุงเกษมได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณริมคลองเป็นตลาดสินค้าประเภทต่างๆ และโรงสี มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาจอดอยู่ตามริมคลองเป็นระยะ เช่น ปากคลองตอนเหนือ (บริเวณวัดเทวราชกุญชร) ลงไปถึงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ นางเลิ้ง  มีเรือค้าข้าว อิฐ  ปูนขาว  และกระเบื้อง จากสะพานเทวกรรมรังรักษ์ลงไปถึงสี่แยกหานาคและสะพานเจริญสวัสดิ์มีการค้าขายสินค้าหลายประเภท อาทิ ข้าว ไม้ เสา ไม้กระดาน และวัสดุทีทำด้วยปูนซิเมนต์บริเวณสี่แยกมหานาคมีเรือผลไม้มาชุมนุมซื้อขายมาก บริเวณกรมรถไฟและหน้าวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่พักของไม้เสา  ปูนขาว  และหิน  ซึ่งรถไฟบรรทุกมาจากต่างจังหวัด  รอการบรรทุกเรือหรือรถยนต์ไปขายยังแหล่างอื่นต่อไปถัดไปจนถึงสะพานพิทย-เสถียรมีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตในประเทศและมาจากประเทศจีน และมีโรงสี โรงน้ำแข็ง  โกดังสินค้าต่างๆ ตั้งรายสองฟากคลองไปจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันริมคลองผดุงกรุงเกษมยังเป็นแหล่างชุมนุมค้าขาย เช่นบริเวณเทเวศร์และมหานาค เป็นต้น สภาพคลองโดยทั่วไปตื้นเขินน้ำเน่าเสีย เรือสามารถผ่านได้บางตอนเมื่อน้ำขึ้นเต็มที่สองข้างคลองมีคันคอนกรีตตลอดแนว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ให้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองที่ต้องอนุรักษ์ไว้

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนคลองผดุงกรุงเกษมตลอดแนวคลอง  เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ  โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๖๘ วันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช  ๒๕๑๙

Top

ตลาดเทเวศร์

รูปภาพ

ถ้าจะเอ่ยถึงตลาดไม้ดอกไม้ประดับในกรุงเทพฯ ที่เก่าแก่ละก็หนีไม่พ้น “ตลาดเทเวศร์” ซึ่งเก่าแก่เสียจนใครหลายๆ คนคงจะลืมไปแล้วว่ายังมีแหล่งซื้อขายไม้ดอกไม้ประดับแห่งนี้อยู่

ตลาดเทเวศน์ตั้งอยู่ริมคลอง...

บนถนนสามเสนอยู่ระหว่าง แบงค์ชาติบางขุนพรม และ หอสมุดแห่งชาติ ที่นี่นอกจากจะมีตลาดสดริมฝั่งคลองซึ่งมีของกินอร่อยมากมายแล้ว ยังมีแหล่งจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม (หากมาจากด้านบางลำพูจะอยู่ซ้ายมือก่อนข้ามสะพานเทเวศร์) มีร้านค้าไม้ดอกไม้ประดับอยู่ประมาณ ๒๐ ร้าน แม้จะไม่ใช่แหล่งใหญ่ที่มีร้านค้าจำนวนมาก แต่ตลาดเทเวศร์นี้ก็มีร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ในการปลูกเลี้ยงต้นไม้อย่างครบครัน ตั้งแต่ ไม้เล็ก ไม้ใหญ่ สวนถาด กระถาง เครื่องปลูก เครื่องมือทำสวน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำพุ น้ำตก ก็มีให้เลือกหาซื้อได้ตามต้องการ

ตลาดเทเวศร์เปิดขาย...

ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือวันนขัตฤกษ์ ตลาดไม้ดอกไม้ประดับแห่งนี้ก็ยังคงเปิดขาย ซึ่งจากการสอบถามผู้ขายในตลาดบอกว่า วันหยุดจะขายดีกว่าวันธรรมดา (แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงบ่นตบท้ายว่า ที่ว่าวันหยุดขายดีนั้นก็ไม่ดีเท่าเมื่อก่อน แค่พอขายได้เรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันมีตลาดชานเมืองเปิดใหม่เยอะ ลูกค้าที่อยู่รอบนอกเมืองเลยไม่เข้ามาซื้อที่นี่) โดยส่วนใหญ่แล้วร้านค้าจะเปิดตั้งแต่ ๗ โมงเช้าถึง ๑ ทุ่ม จึงเดินได้ทุกวันทุกเวลาที่คุณสะดวก แต่แนะนำว่าควรเดินวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ช่วงตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ใช้เวลาเดิน ๒ ชั่วโมง เดินเสร็จ ๙ โมงเช้าแดดก็ยังไม่ร้อน หรือจะเป็นช่วงเย็นๆ ๔-๕ โมงไปแล้วแดดร่มลมตกมีเวลาเลือกซื้อได้ ๑-๒ ชั่วโมง ก่อนร้านปิด จะได้เดินเลือกซื้อกันอย่างสบายอารมณ์

การเดินเที่ยวตลาดเทเวศร์นี้ออกจะง่ายสักหน่อย เพราะไม่มีซอยไม่มีแยก เดินเลียบร้านค้าที่ตั้งเรียงริมคลองยาวตลอดแนวเลือกดูต้นที่ถูกใจ หากยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นต้นที่ต้องการแล้วจริงหรือไม่ ก็เดินดูไปจนสุดครบทุกร้านค่อยเดินย้อนกลับมาซื้อต้นที่เล็งๆ ไว้ก็ยังได้ เพราะร้านค้ามีไม่มากเดินไปเดินกลับไม่พอเหนื่อย และที่นี่ขายของไม่ค่อยผิดราคาเพราะเป็นร้านค้าประจำขายกันมานานหลายปี ตลาดเทเวศร์เป็นตลาดที่อยู่ในใจกลางเมือง ไปมาสะดวก สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วยแล้วยิ่งสะดวก เพราะมีเวลาว่างเพียง ๑-๒ ชั่วโมงก็สามารถหาซื้อของที่คุณต้องการได้ วันหยุดที่จะถึงนี้ถ้าคุณว่างชวนครอบครัว หรือคนรู้ใจ ตื่นเช้าซักนิดไปเดินเล่นถึงไม่ได้ตั้งใจจะไปซื้ออะไร แค่ได้เดินดูต้นไม้ดอกสวยๆ หลากสี ใบไม้เขียวๆ ต่างรูปร่างก็มีความสุขแล้วละ

Top

วังพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (วังเทเวศร์)

รูปภาพ

วังพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ  ตั้งอยู่บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสร้างพระราชทาน ณ บริเวณป้อมหักกำลังดัสกรซึ่งพ้นสมัยที่จะใช้การเป็นประโยชน์แล้ว รวมทั้งที่สวนอีก ๒ แปลงที่ทรงซื้อไว้ และที่ข้างฝ่ายพระมารดาของพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์  ซึ่งพระองค์เจ้าศรีเสาว-ภางค์ น้อมเกล้าฯ ถวายรวมเป็นอาณาบริเวณตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงบริเวณกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในปัจจุบันด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถเสด็จประทับตลอดพระชนมายุ จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าพระยาอนิรุธเทวา ขายบ้านบรรทมสินธุ์ ที่ถนนพิษณุโลกให้รัฐบาล แล้วซื้อวังนี้บริเวณริมถนนกรุงเกษม ตั้งแต่ตัวพระตำหนักไปจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาได้ให้เอกชนเช่าดำเนินกิจการ ปัจจุบันนี้พระตำหนักเป็นที่ตั้งของ บริษัท เทล-คอม จำกัด (Telcom Company Limited)

ส่วนทายาทในราชสกุลกิติยากรปกครองอาณาบริเวณวังตอนริมถนนกรุงเกษม ตั้งแต่พระตำหนักไปถึงบริเวณกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอ้อมไปด้านหลังจรดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน ต่อมาหม่อมเจ้าขจรจบ กิติยากร ได้ขายที่และตำหนักให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ใช้เป็นที่ทำการกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเหลืออาณาบริเวณที่ทายาทในราชสกุลกิติยากรปกครองตั้งแต่ส่วนกลางอ้อมไปออกแม่น้ำทางด้านหลังที่ดินของตระกูลอนิรุธเทวา มีตำหนักเอกคือ พระตำหนักของของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ซึ่งปัจจุบันหม่อมหลวง บัว กิติยากร ปกครอง

พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีสุรนาถ เป็นตึก ๒ ชั้น ทรงสี่เหลี่ยม ความงามเด่นของอาคารอยู่ที่การตกแต่งหน้าต่างชั้นบนเป็นซุ้มโค้งกลมประดับกระจกเป็นรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง  เฉลียงชั้นสองของมุขหน้า เป็นเฉลียงกว้างบนเสาของราวลูกกรงตั้งกระถางหล่อปลูกต้นไม้ เสาเหลี่ยมรับเฉียงประกอบด้วยซุ้มโค้งกลม ตัวอาคารมีเฉลียงเล็กทุกด้าน ผนังประกอบด้วยเสาอิงแบบ Doric และ lonic ผนังชั้นล่างสลักเป็นลายอิฐ ผนังส่วนใต้หลังคาเจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามแนวนอน สลักปูนเป็นกรอบและมีหูช้างสลักลายประดับใต้ชายคา หลังคาภายในตกแต่งอย่างโอ่โถงงดงาม ช่องลมเหนือประตูตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุลายละเอียด บริเวณสนามวงกลมด้านหน้าตั้งตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีก กระถางปูนประดับลายปูนปั้น เรียงรายตลอด

พระตำหนักพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน พระชายาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ- กรมพระจันทบุรีนาถ  สร้างประทานบนที่บริเวณหลังตำหนักใหญ่ เมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว เป็นบ้าน ๒ ชั้นทรงกลม แบบบ้านแถบเยอรมนี  ออสเตรีย  หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาพระตำหนักหลังนี้  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในราชการปัจจุบัน เสด็จประทับมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ปัจจุบันเป็นแบบบ้านที่สถาปนิกให้ความสนใจมาก อาณาบริเวณรายล้อมด้วยลานไม้ดอก สดใสงดงามเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยายิ่งนัก ส่วนด้านหลังตกแต่งแบบสวนป่าร่มรื่น

พระตำหนักหม่อมเจ้า ขจรจบ กิติยากร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการของอธิบดีกรมตรวจบัญชี สหกรณ์   มีลักษณะสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระตำหนักพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ  แต่ด้อยกว่าในด้านความสง่างาม แต่การตกแต่งไม้ฉลุลายทำให้เป็นอาคาร ที่มีลักษณะงดงามกะทัดรัด

Top

สะพานเทเวศรนฤมิตร

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ถนนสามเสนแขวงวชิระเขตดุสิตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-จุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระราชทานนามว่า “สะพานเทเวศรนฤมิตร” เดิมเป็นราวสะพานเหล็กหล่อ ในพ.ศ. ๒๔๘๒ ปรับปรุงเป็นสะพานคอนกรีต ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงขยายผิวจราจรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีราวพนักสะพานเป็นคอนกรีตทึบทั้งสองข้าง ตรงกึ่งกลางสะพานมีจารึกนามสะพานและ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นปีที่บูรณะ สองข้างจารึกทำเป็นเสาหัวเม็ดปลายราวสะพานทั้ง ๔ มุมมีแท่นตั้งเสาไฟโลหะมุมละ ๑ อัน

สะพานเทเวศรนฤมิตรนี้ แม้ว่าปัจจุบันมีลักษณะเป็นศิลปไทยประยุกต์แบบใหม่ ไม่เหลือเค้าของสะพานเดิมก็ตาม แต่กรุงเทพมหานครได้รักษานามพระราชทานเดิมของสะพานครั้งรัชกาลที่ ๕ ไว้ เป็นการรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสะพานที่มีนามหมายถึงเทพเจ้าสร้าง ๕ สะพานมิให้สูญหาย สะพานทั้ง ๕ ได้แก่ สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานวิศุกรรมนฤมาน สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์

Top

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

รูปภาพ

เดิม ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักงานพระคลังข้างที่ ในสังกัดสำนักพระราชวัง ต่อมา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษอากรเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

·      ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีอากร และ

·      ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร

หลังจากนั้น ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เพื่อแบ่งแยก “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ออกจากกัน โดยเฉพาะ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง และได้จัดตั้งสำนักงานขึ้นโดยให้ชื่อว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” โดยให้มีฐานะเทียบเท่ากอง สังกัดกรมคลัง (ปัจจุบันคือ กรมธนารักษ์) กระทรวงการคลัง และรับโอนหน้าที่การงานตลอดจนข้าราชการบางส่วนมาจากสำนักงานพระคลังข้างที่ รวมทั้งได้ขอใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของสำนักงานพระคลังข้างที่ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ทำการสำนักงานด้วย

ต่อมามีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฯ อีก ๒ ครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๙๑ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยยกฐานะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขึ้นเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดประโยชน์อันเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า ๔ ท่าน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ๑ ท่าน ให้คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมายรวมถึงมีอำนาจลงนามเป็นสำคัญผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ย้ายที่ทำการ ๔ ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ย้ายมาอยู่ที่ “วังลดาวัลย์” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า “วังแดง” จนกระทั่งปัจจุบัน และให้ถือเอาวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสถาปนาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

Top

สะพานวิศุกรรมนฤมาน

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมถนน ราชสีมาและถนนประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการ สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๕ พระราชทานนามว่า “สะพานวิศุกรรมนฤมาน” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๔ เดิมเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ มีราวสะพานเป็นลูกกรงเหล็กหล่อ ในพุทธศักราช ๒๕๑๐ ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างกว่าเดิม ลักษณะราวสะพานทำเป็นลูกกรงคอนกรีตโปร่ง มีลักษณะโค้งออกด้านข้าง ตรงเชิงลาดมีบันไดขึ้นเตี้ยๆ จากทางเท้าลงสู่ทางเท้าริมถนน กึ่งกลางราวสะพานเป็นแผ่นจารึกนามสะพานซึ่งสะกดต่างจากนามพระราชทาน เป็น “วิศสุกรรมนฤมาน” และบอกปีการบูรณะพุทธศักราช ๒๕๑๐ สองข้างจารึกเป็นเสาไฟโลหะแบบใหม่ สะพานวิศุกรรมนฤมานเป็นอีกสะพานหนึ่งในชุดสะพานเทพเจ้าสร้าง

Top

คุรุสภา

รูปภาพ

คุรุสภามีประวัติความเป็นมาคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง  "วิทยาทานสถาน" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘ สำหรับการอบรมครูและประชุมครูต่อมา ได้จัดตั้งเป็นสภาสำหรับ อบรมครูเรียกว่า "สภาไทยาจารย์" จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้จัดตั้งเป็นสโมสรทางวิชาการเรียกว่า
"สามัคยาจารย์สโมสรสถาน"และกลายเป็น
 "สามัคยาจารย์สมาคม" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ นายทวี บุณยเกตุ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มองเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครูได้รับผลกระทบกระเทือน ทางเศรษฐกิจ การดำรงชีพ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขึ้น เพื่อจัดตั้งสภาขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “คุรุสภา” และกำหนดให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา

Top

วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร

รูปภาพ

วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ท้องที่แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร ติดถนนกรุงเกษมซึ่งเลียบคลองผดุงกรุงเกษม

วัดมกุฎกษัตริยาราม สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอก และสร้างวัดโสมนัสวิหาร เพื่ออุทิศพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีแล้ว มี พระราชดำริว่า สมัยอยุธยามีการสร้างวัดเรียงรายตามคูพระนคร เช่น สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ทรงสร้างวัดกุฎีดาวริมคูเมืองตรงข้ามกับวัดสมณโกฏิของพระมเหสี ดังนั้นจึงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดส่วนพระองค์คู่กับวัดโสมนัสวิหาร ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษมทางเหนือ ใกล้กับป้อมหักกำลังดัษกร โปรดให้ซื้อที่สวนของราษฎรติดต่อกับเขตวัดโสมนัสวิหารเป็นที่สร้างพระอาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) เป็นแม่กองสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่าง พระยามหานุภาพเป็นนายงาน การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยในพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระราชทานนามว่า “วัดมกุฎกษัตริยาราม” แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วัดนามบัญญัติ” ไปพลางก่อนจนกว่าจะสิ้นรัชกาล จึงค่อยเรียกนามพระราชทาน

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ในพุทธศักราช ๒๔๓๓ ฟ้าผ่ายอดพระเจดีย์หักลงมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ ติดสายล่อฟ้า และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างพระมหามงกุฎสำริด กว้าง ๕๐ เซนติเมตร สูง ๑ เมตร วัดจากจอนสูง ๑.๔๕ เมตร สำหรับประดิษฐานเหนือยอดพระเจดีย์ด้วย และได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้เรียกนามวัดว่า “วัดมกุฎกษัตริยาราม” ตามที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๔

สิ่งสำคัญในพระอาราม

พระวิหาร

ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของเขตพุทธาวาส เป็นอาคารทรงไทยขนาด ๗ ห้อง มีระเบียงรอบ ใช้เป็นที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นและรับกฐิน เนื่องจากอยู่ในเขตมหาสีมาจึงใช้ประกอบสังฆกรรมได้ หน้าบันมีลายพระมหามงกุฎอยู่ท่ามกลางนก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจก ด้านบนมีรูปพานแว่นฟ้ารองรับเลข ๔ และพระมหามงกุฎประดิษฐานบนช้าง ๓ เศียร มีฉัตร ๙ ชั้นปักอยู่ ๒ ข้าง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ

ผนังด้านในพระวิหารประดับหินอ่อน ถึงกรอบหน้าต่าง ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพเรื่องราวของพระสาวกในบาลีและอรรถกถา มีจารึกหินอ่อนอธิบายความติดอยู่ตอนล่าง ผนังซอกหน้าต่างเขียนภาพการบำเพ็ญกรรมฐานต่าง ๆ ที่ต้นเสาทั้ง ๒ ด้าน ตอนโคนเสาประดับหินอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก ข้างบนเขียนภาพจิตรกรรมปริศนาธรรม บานประตูด้านในทาสีน้ำเงิน เขียนพระสูตรต่างๆ ด้วยอักษรขอมตัวบรรจงด้วยรงทอง บานประตูหน้าต่างเขียนคาถาธรรมบท พระประธานในวิหารคือพระพุทธวิชรมงกุฎประดิษฐานในบุษบกบนฐานหินอ่อน ๒ ชั้น เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางสมาธิ ลงรักปิดทอง

พระวิหารคด

ก่อเชื่อมต่อกับพระวิหารใหญ่ตรงมุขด้านหลัง ๒ ข้าง แล้วหักมุมไปบรรจบกันเป็นสี่เหลี่ยม มีประตูติดต่อกันระหว่างพระวิหารใหญ่และพระวิหารคด และมีประตูทางออก ๓ ด้าน ด้านละ ๑ ประตู ภายในวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูป

พระเจดีย์

ตั้งอยู่ในวงวิหารคด ฐานสี่เหลี่ยม ข้างบนมีกำแพงแก้วโดยรอบ มีบันไดขึ้น ๔ ด้าน

พระอุโบสถ

อยู่ถัดจากวิหารคดไปทางหลังวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาคารทรงไทยขนาด ๕ ห้อง ติดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้น หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎอยู่ท่ามกลางลวดลายปูนปั้น ซุ้มประตูหน้าต่างมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหาร บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ ตัวพระอุโบสถมีระเบียงรอบ และระหว่างต้นเสามีกำแพงเชื่อมต่อกันโดยตลอด

ผนังภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรม แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ เหนือกรอบหน้าต่างจรดเพดาน เขียนภาพประวัติพระอัครสาวก ๑๑ องค์ มีจารึกหินอ่อนอธิบายภาพติดไว้ใต้กรอบหน้าต่าง ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพประวัติพระอัครสาวิกา ๙ องค์มีจารึกหินอ่อนอธิบายภาพติดไว้ทางด้านล่าง ที่ผนังซอกประตูหน้าต่างเขียนภาพสิ่งที่จะพึงปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย พร้อมทั้งรูปแสดงธุดงควัตร มีอักษรเขียนอธิบายไว้ด้านล่าง บานประตูหน้าต่างด้านใน เขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรขอมบรรจง รวมทั้งคาถาธรรมบทบางวรรค และโสฬสปัญหา

พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ในบุษบก เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทอง ปางสมาธิ ไม่มีพระนาม

วัดมกุฎกษัตริยารามได้ชื่อว่าเป็นวัดมีสีมา ๒ ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกและมีเพียง ๒ วัดเท่านั้นในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ คือวัดมกุฎกษัตริยาราม และวัดโสมนัสวิหาร สีมาชั้นแรกเรียกว่า “มหาสีมา” มีซุ้มสีมาซึ่งตั้งอยู่ที่มุมกำแพงรอบวัดเป็นเครื่องหมายกำหนดเขต ภายในเขตมหาสีมามีซุ้มบอกเขตมหาสีมาด้านในอยู่ที่กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ และยังมีสีมารอบพระอุโบสถอีกเรียกว่า “ขัณฑสีมา” กำแพงแก้วและซุ้มเสมาบนกำแพงนั้นเป็นเขตกั้นกลางเพื่อมิให้สีมาชั้นนอกและชั้นในคาบเกี่ยวกัน อันจะทำให้สีมาทั้งสองนั้นใช้ไม่ได้ เรียกว่า “สีมันตริก” วัดที่มีสีมา ๒ ชั้นนี้ พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งที่พระอุโบสถและพระวิหาร แต่ถ้าทำในพระวิหารจะต้องให้พระสงฆ์ทุกองค์ในวัดมาร่วมพิธีทุกองค์ มิฉะนั้นถือว่าพิธีนั้นเป็นโมฆะ ปัจจุบันเพื่อให้สะดวกในการดูแลให้ถูกต้องตามพระวินัยกำหนด ทางวัดจึงทำสังฆกรรมที่พระวิหารเพียงรับกฐินอย่างเดียว นอกนั้นกระทำในพระอุโบสถ

Top

โรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์

รูปภาพ

โรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดสถานที่ตั้งบริเวณหน้าวัดมกุฎกษัตริยาราม หน่วยแนวการศึกษาของกระทรวงศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่หาที่เรียกไม่ได้มาเข้าเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เริ่มรับมอบตัวนักเรียนและเริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ มี นายเจษฎ์ ปรีชานนท์ เป็นผู้ดูแลชั่วคราว มีครู ๒ คน นักเรียน ๘๘ คน อาศัยเรียนในโรงเรียนวัดบวรนิเวศวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ย้ายสถานที่เรียนจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศมาเรียนที่อาคารเรียนชั่วคราวในบริเวณวัดมกุฎกษัตริยารามด้านติดสุสาน นายบุญยัง ทรวดทรง ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่คนแรกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔

Top

กระทรวงศึกษาธิการ

รูปภาพ

กระทรวงศึกษาธิการแต่เดิมมีชื่อว่า กระทรวงธรรมการตั้งขึ้นเมื่อวันที่  ๑  เมษายน  รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑  ปี มะโรง ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงธรรมการในระยะแรกมีหน้าที่จัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ มีกรมในสังกัด ๕ กรมคือ กรมธรรมการกลาง กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี ชื่อของกระทรวงนี้ ได้มีการเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาหลายครั้ง ดังนี้ 

ช่วงปีพุทธศักราช

ชื่อกระทรวง

๒๔๓๕-๒๔๖๑

๒๔๖๒-๒๔๖๘

๒๔๖๙-๒๔๘๓

๒๔๘๔-ปัจจุบัน

กระทรวงธรรมการ

กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงธรรมการ

กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันนี้ มีหน้าที่หลักในด้านการศึกษาการศาสนา และวัฒนธรรม มีหน่วยงานระดับสำนักงานในสังกัด ๕ หน่วยงาน และมีหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชน/หน่วยงานในกำกับ 

ที่ทำการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการย้ายมาหลายแห่งด้วยกัน ดังนี้    

·     ในสมัยแรกนั้น (พ.ศ. ๒๔๓๕) ที่ทำการกระทรวงธรรมการตั้งอยู่ที่ตึกริมประตูพิมาน-ไชยศรี ด้านตะวันออก (ปัจจุบันเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่)

·      พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกสุนันทาลัย ปากคลองตลาดซึ่งก็คือ โรงเรียนราชินีในปัจจุบัน

·     พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกสร้างใหม่ที่พระราชวังบวรฯ (ที่ตั้งโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน)

·     พ. ศ. ๒๔๕๒ ได้ย้ายไปอยู่ที่   บ้านเจ้าพระยา-รัตนาธิเบศร์ ริมปากคลองโอ่งอ่าง (ปัจจุบันเป็นที่ทำการกรมการข้าว)

·      พ. ศ. ๒๔๘๓ ได้ย้ายมาอยู่ที่วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก จนถึง ปัจจุบันนี้

ผู้บริหารระดับสูงที่บริหารงานกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน มีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นราชการประจำในตำแหน่งปลัดทูลฉลองและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 30 คน วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ มีหน่วยงานภายใต้สังกัด คือ

๑.     สำนักงานรัฐมนตรี

๒.    สำนักงานปลัดกระทรวง

๓.    สำนักงานคณะกรรมการสภาการศึกษา

๔.    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

๕.    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

๖.     สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

๗.    องค์การมหาชน/องค์กรในกำกับ

Top

สะพานมัฆวานรังสรรค์

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมถนน ราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตพระนคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๓ มีพระราชประสงค์ให้เป็นสะพานที่มีขนาดใหญ่และงดงามเป็นพิเศษ พร้อมกับให้กรมสุขาภิบาลตัดถนนราชดำเนินนอก เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังดุสิต การสร้างสะพานและถนนเสร็จลงในพุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๖ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ ปี อันนับเป็นมงคลสมัย

ลักษณะสะพานเป็นสะพานที่มีความงดงามประณีตมาก ตัวสะพานเป็นตัวคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานสองข้างเป็นเหล็กหล่อที่มีลวดลายละเอียดงดงามมาก กึ่งกลางราวสะพานด้านนอกมีแผ่นโลหะกลมหล่อเป็นรูปช้างเอราวัณ ๓ เศียร ซึ่งเป็นเทพพาหนะของท้าวมัฆวาน เหนือแผ่นโลหะนี้เป็นเสาโคมไฟโลหะขนาดเล็ก ปลายสุดของราวสะพานทั้งสองฝั่งเป็นเสาหินอ่อน มีโคมไฟโลหะอยู่บนยอด ที่บริเวณหัวเสาประดับด้วยลายเฟื่องอุบะโลหะ เครื่องประดับบางชิ้นเป็นโลหะกะไหล่ทอง มีจารึกนามสะพานอยู่ที่กลางเสาหินอ่อน ปลายสะพานทั้งสี่ต้นนี้ ถัดจากเสานี้ไปเป็นพนักเชิงลาดของสะพานซึ่งประดับด้วยหินอ่อน ที่คานด้านข้างสะพานทั้งสองข้าง มีลวดลายประดับเช่นกัน ปัจจุบันได้ปรับปรุงขยายสะพานให้มีผิวจราจรกว้างขึ้นและรักษาเครื่องประดับสะพานให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมที่สุด

กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนสะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๖๑ วันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

Top

สำนักนายกรัฐมนตรี

รูปภาพ

การบริหารราชการแผ่นดินโดยแบ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม ได้เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้นการปกครองประเทศแบ่งเสนาบดีเป็น  ๖ ตำแหน่ง ยกเป็นอัครมหาเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหนายกบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง และสมุหพระกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งปวง ส่วนเสนาบดีอีก ๔ ตำแหน่ง เรียกว่า จตุสดมภ์ ๔ คือ เสนาบดีพระคลังได้บังคับบัญชาการต่างประเทศและกรมพระคลังเสนาบดีกรมเมืองได้บังคับบัญชาการรักษาพระนคร และกรมนครบาล เสนาบดีกรมวังได้บังคับบัญชาพระบรมมหาราชวัง และเสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิบดี ได้บังคับบัญชาการไร่นาซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “...การซึ่งจะให้ราชการทั้งปวงเรียบร้อย เป็นแบบอย่างสะดวกได้ตามสมควรที่จะปกครองบ้านเมืองในเวลานี้ จำจะต้องแบ่งราชการให้มีอยู่เป็นหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วนๆ ไป”

ดังนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรับปรุงการปกครองใหม่ โดยเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และสามารถดำเนินการได้สำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๒ กระทรวง ได้แก่

๑.     กระทรวงมหาดไทย สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวประเทศราช

๒.    กระทรวงกลาโหม สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตก ตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช

๓.    กระทรวงการต่างประเทศ ว่าการเฉพาะการต่างประเทศอย่างเดียว

๔.    กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง และกรมซึ่งใกล้เคียงกับราชการในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๕.    กระทรวงเมือง ว่าการโปลิศ และการบัญชีคน คือ กรมสุรัสวดี และรักษาคนโทษ

๖.     กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้าขาย กรมป่าไม้ และการบ่อแร่

๗.    กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ว่าการบรรดาภาษีอากร และเงินที่จะรับจะจ่ายในแผ่นดินทั้งสิ้น

๘.    กระทรวงยุติธรรม บังคับศาลที่จะชำระความรวมกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

๙.     กรมยุทธนาธิการ เป็นพนักงานสำหรับที่จะได้ตรวจตราจัดการในกรมทหารบกทหารเรือ ซึ่งจะมีผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือต่างหากอีกตำแหน่งหนึ่ง

๑๐.       กระทรวงธรรมการ เป็นพนักงานที่จะบังคับบัญชาการเกี่ยวข้องในพระสงฆ์และเป็นผู้บังคับการโรงเรียนและโรงพยาบาลทั่วทั้งราชอาณาเขต

๑๑.       กระทรวงโยธาธิการ เป็นพนักงานที่จะตรวจการก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง และการช่างทั่วไป ทั้งการไปรษณีย์และโทรเลข หรือรถไฟ ซึ่งจะมีสืบไปในภายหน้า

๑๒.     กระทรวงมุรธาธิการ เป็นพนักงานที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพบว่างานบางอย่างยังซ้ำซ้อนกัน จึงทรงแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการปกครองทั่วราชอาณาจักรยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครยังคงอยู่ในความปกครองของกระทรวงนครบาล ส่วนกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรกับทรงตั้งสภารัฐมนตรีและสภานายกรัฐมนตรีขึ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย นอกจากนั้นยังทรงปรับปรุงกระทรวงอื่นๆ อีกบางกระทรวง คือ ยุบกระทรวงมุรธาธิการ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) และให้โอนราชการในหน้าที่ของกระทรวงมุรธาธิการไปขึ้นอยู่ในกรมราชเลขานุการ ส่วนราชการที่เป็นแผนกในกระทรวงมุรธาธิการให้เรียกว่า กรมพระอาลักษณ์ ขึ้นอยู่ในสภานายกรัฐมนตรี

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริว่า ราชการในกรมพระอาลักษณ์ซึ่งมีราชการบางอย่างจุกจิกอยู่มาก เช่น การทำทะเบียนยศ บรรดาศักดิ์ข้าราชการ การทำทะเบียนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นภาระหนักที่กรมพระอาลักษณ์และกรมราชเลขาธิการได้รวมทำกันอยู่นั้นมีแต่จะทวีมากขึ้นทุกวัน เกินกำลังเจ้าหน้าที่จะทำให้เรียบร้อยได้ และราชการในหน้าที่ราชเลขาธิการก็มีมากขึ้นเสมอ จึงได้โปรดเกล้าฯให้เอาราชการเหล่านี้มารวมทำในกระทรวงหนึ่งต่างหาก คือกระทรวงมุรธาธร

กาลล่วงมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ รายได้ของประเทศไม่พอกับรายจ่าย โปรดให้มีการดุลยภาพข้าราชการคงเหลือไว้แต่เฉพาะที่จำเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรทรงแนะให้ยุบกระทรวงมุรธาธรเสียเพราะมีงานน้อย จึงได้มีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๖๘ ให้เลิกกระทรวงมุรธาธรและให้ยกงานไปรวมกับกรมราชเลขาธิการ โดยให้มีฐานะเสมอด้วยกระทรวงอยู่ตามเดิม คือราชเลขาธิการมีเกียรติ ฐานะ และอาวุโส ลำดับเดียวกับเสนาบดี

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๗๕ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกกรมราชเลขาธิการขึ้นเป็นกระทรวงมุรธาธรอีก  ทั้งนี้ เพราะทรงพระราชดำริว่า กรมราชเลขาธิการและตำแหน่งราชเลขาธิการเป็นทบวงการ และตำแหน่งที่สำคัญอันหนึ่งในราชการซึ่งเคยนิยมเทียบชั้นเสมอด้วยกระทรวงเสนาบดีมาแต่ก่อน ครั้นเมื่อรวมกระทรวงมุรธาธรเข้ากับกรมราชเลขาธิการแล้ว กรมราชเลขาธิการคงมีฐานะเสมอด้วยกระทรวงอยู่ตามเดิมและราชเลขาธิการมีเกียรติ ฐานะ และอาวุโสอย่างเดียวกับเสนาบดีทุกอย่าง หากแต่ไม่ได้เรียกว่าเสนาบดีเท่านั้น ส่วนผู้ช่วยราชเลขาธิการก็ลำดับเสมอด้วยปลัดทูลฉลองเช่นเดียวกัน แต่ยังมีผู้ฉงน และสงสัยในฐานะหรือลำดับศักดิ์ของทบวงการ และตำแหน่งนี้อยู่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมราชเลขาธิการ เป็นกระทรวงมุรธาธร เรียกนามตำแหน่งราชเลขาธิการว่าเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เรียกนามตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขาธิการว่าปลัดมุรธาธร

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับรองตามคำขอร้องของคณะราษฎรให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นชั้นหนึ่งก่อน เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ก็ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ประชุมได้พิจารณาเลือกตั้งประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งได้แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และกรรมการราษฎรอีก ๑๔ นาย

เมื่อได้มีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเป็นราชเลขาธิการ และ มีกรมราชเลขาธิการ ทำหน้าที่ติดต่อกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในเรื่องที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติหรือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ในเรื่องที่นอกเหนืออำนาจเสนาบดี เมื่อมีพระราชกระแสประการใด เจ้าหน้าที่กรมราชเลขาธิการ ก็อัญเชิญพระกระแสพระบรมราชโองการไปยังกระทรวงทบวง กรมนั้น ๆ แต่โดยที่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ กำหนดให้มีบุคคลและคณะบุคคลที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ซึ่งได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล เป็นผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกกรมราชเลขาธิการ และตั้งกรมเลขาธิการคณะกรรมการราษฎรขึ้น โดยมีเลขาธิการเป็นหัวหน้ากรมนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์การบริหารของคณะกรรมการราษฎร

ดังนั้น งานบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงจึงแยกมาปฏิบัติทางกรมเลขาธิการ คณะกรรมการราษฎรสำหรับงานส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ก็แยกไปปฏิบัติทางกรมราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนเป็นสำนักราชเลขาธิการ

ต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช้คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" แต่ใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" แทนกรมเลขาธิการคณะกรรมการราษฎรจึงอนุโลมเปลี่ยนชื่อเป็นกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ตั้งสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้น โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน  ๒๔๗๖ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับสำนักนายกรัฐมนตรีว่า “...คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันนี้ มีความเห็นพ้องกันว่า ควรมีกระทรวงเพียง ๘ กระทรวง และมีทบวงอีก ๑ แห่ง คือ “สำนักนายกรัฐมนตรี”...” สำหรับสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นอยู่แต่ก่อน ได้มีกรมต่างๆ ขึ้นต่อคณะรัฐมนตรี ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า เปรสิดอง เดอคองเซ สำหรับตัวนายกรัฐมนตรีมีสำนักงานบริหารต่างหาก และมีกรมหรือทบวงต่างๆ มาขึ้นอยู่ด้วย เมื่อสรุปใจความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่มีของแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “สำนักนายกรัฐมนตรี”

การที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้ตั้งสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นเนื่องจากถือว่า อำนาจ ๓ อำนาจ คือ อำนาจบริหารอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ เป็นอำนาจของปวงชนมอบถวายแด่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงใช้อำนาจดังกล่าวนี้ ด้วยพระองค์เอง แต่ทรงใช้อำนาจบริหารโดยทางคณะรัฐมนตรี ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาผู้แทนราษฎร และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลในด้านอำนาจบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้านั้น จำเป็นจะต้องมีสำนักงานของนายกรัฐมนตรี มีเจ้าหน้าที่สำหรับรับคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและของคณะรัฐมนตรีที่สั่งในทางบริหารราชการแผ่นดินไปดำเนินการ จึงต้องจัดตั้งสำนักงานของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ขึ้น เรียกชื่อว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี” และได้มีการจัดวางระเบียบราชการสำนักงาน และกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๔๗๖ ดังต่อไปนี้

๑.     สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี

๒.    กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

๓.    คณะกรรมการกฤษฎีกา

๔.    คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

๕.    คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

๖.     สำนักงานโฆษณาการ

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกหลายครั้งจนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๙๕ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๙๕ จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางเป็นดังนี้

๑.     สำนักนายกรัฐมนตรี

๒.    กระทรวงหรือทบวง

๓.    ทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบกรม

การจัดระเบียบบริหารราชการภายในสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แบ่งเป็นดังนี้

๑.     สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

๒.    กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานปลัดกระทรวง และมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ปลัดกระทรวง

๓.    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๔.    สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

๕.    สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

๖.     กรมประชาสัมพันธ์

๗.    กรมโยธาธิการ

สำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยเปลี่ยนชื่อเรียกว่า "สำนักคณะรัฐมนตรี" อยู่ระยะหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๙๖) และแยกส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีออกเป็น ๒ ทบวง  คือ

๑.     ทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี

๒.    ทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการบริหารของคณะรัฐมนตรี และราชการอื่นที่มิได้อยู่ภายในวงอำนาจ และหน้าที่ของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าราชการฝ่ายการเมืองกับราชการฝ่ายบริหารมีลักษณะแตกต่างกัน จึงสมควรให้มีทบวงที่รับผิดชอบต่างกัน เพื่อให้แต่ละทบวงรับผิดชอบในราชการเป็นสัดส่วนและให้มีการประสานงานกันโดยใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ภายหลังปรากฏว่างานของทั้งสองทบวงซ้ำซ้อนกันอยู่เสมอ เนื่องจากเรื่องการเมืองและการบริหารนั้นแยกกันไม่ใคร่ออก รัฐบาลจึงได้พิจารณาเห็นสมควรจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๒  ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เปลี่ยนชื่อจากสำนักคณะรัฐมนตรีกลับมาเป็นสำนักนายกรัฐมนตรีตามเดิม และจัดส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยไม่แยกส่วนราชการออกเป็นฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารอีก

หลังจากนั้น ได้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรีต่อๆ มาอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นการจัดตั้งโอน ย้าย ส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับวันซึ่งถือว่าเป็นวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี หรือวันเกิดของสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น แม้ว่าจะมี  พรบ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ให้จัดตั้งสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่ก็มิได้ถือว่า วันที่ ๙ ธันวาคม เป็นวันสถาปนาหรือวันเกิดของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่กลับกำหนดให้วันที่ ๒๘ มิถุนายน เป็นวันสถาปนา หรือวันเกิดของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเช่นนี้ไม่พบหลักฐานที่แสดงเหตุผลไว้ จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานเอาว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ จึงถือเอาวันที่ ๒๘ มิถุนายน เป็นวันเริ่มต้นการบริหารของนายกรัฐมนตรี และเป็นวันเริ่มปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานอย่างเป็นทางการในอีก ๑ ปี  ต่อมาก็ตาม ดังนั้น จึงถือว่าวันที่ ๒๘ มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาหรือวันเกิดของสำนักนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

Top

ทำเนียบรัฐบาล

รูปภาพ

เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ หลังจากที่รัฐบาลได้ซื้อและทำการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลและสถานที่รับรองแขกเมือง

ตึกไทยคู่ฟ้า เดิมชื่อตึกไกรสรเป็นอาคารสูง ๒ ชั้น สถาปัตยกรรมเป็นแบบกอทิกตอนปลาย (Neo Venetain Gothic) ที่มีศิลปะของ
ไบแซนไทน์ผสม ผนังนอกเจาะช่องโค้งปลายแหลมทรงสูงประดับลวดลายปูนปั้น บางส่วนเขียนสีแบบปูนแห้ง (
Fresco Secco) มีบันได้ขึ้นด้านหน้าสู่ห้องโถงกลาง ชั้นล่างทางด้านซ้ายมือเป็นห้องรับรองงาช้างและห้องโดมพักแขก ส่วนทางด้านขวามือเป็นห้องรับรองสีม่วงและห้องโดมสีม่วง

ตึกนารีสโมสร เดิมชื่อตึกพระขรรค์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการส่วนราชการของทำเนียบรัฐบาล

ตึกสันติไมตรี เป็นอาคารรูป ๔ เหลี่ยมล้อมสนามน้ำพุ ตรงกลางเป็นอาคารเปิดโล่ง ตึกด้านหน้าสร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้เป็นที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกจำนวนมาก รวมทั้งประชุมสัมมนาของหน่วยราชการ ส่วนอาคารด้านหลัง สร้างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้ในกิจการเช่นเดียวกับตึกหน้า

Top

วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

รูปภาพ

วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังริมถนนลูกหลวงตอนต่อปากคลองเปรมประชากรฟากใต้ พระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นราชโอรส  และประกอบพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙

อาคารตำหนักเดิมของวังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ปัจจุบันได้ดัดแปลงเป็นอาคารของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพณิชยการพระนคร และยังมีแนวกำแพงวังซึ่งสร้างเป็นรูปใบเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง  แต่มีขนาดเตี้ยกว่าเหลือเป็นอนุสรณ์ทางด้านถนนพระรามที่ ๕ ซึ่งติดคลองเปรมประชากร ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร และทางด้านถนนพิษณุโลก ยาวประมาณ ๒๔๐ เมตร

Top

วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร

รูปภาพ

วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนกรุงเกษม ในท้องที่แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุด

เมื่อพระบาทสมเด็นพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้ว มีพระราชดำริที่จะให้เขตพระนครที่ขยายออกมาครึกครื้นขึ้น และมีพระอารามหลวงริมคูพระนครเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าให้สร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้นในพุทธศักราช ๒๓๙๖ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีพระบรมราชเทวี มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑ ไร่เศษ พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา ด้านหน้าจรดคลองผดุงกรุงเกษม ด้านข้างเป็นคูทั้งสามด้านในเนื้อที่วิสุงคามสีมาที่เป็นตัวพระอารามนั้น ได้สมมติเป็นมหาสีมาเฉพาะภายในกำแพงเว้นนอกกำแพงไว้เป็นอุปจารสีมา มีมีมันตริกที่ลานรอบพระอุโบสถ ภายในกำแพงแก้ว นับว่าเป็นวัดที่มีสีมา ๒ ชั้น เช่นเดียวกับวัดมกุฏกษัตริยาราม พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งในพระอุโบสถและพระวิหาร

ภายในกำแพงแบ่งเป็น ๓ เขต ยาวจากด้านหน้าไปด้านหลัง เขตพุทธาวาสอยู่กลางประกอบด้วยพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และเจดีย์ เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยกุฏิเสนาสนะของพระสงฆ์อยู่สองข้างของเขตพุทธาวาส ระหว่างกุฏิสงฆ์แต่ละคณะมีอุปจาร มีบริเวณเป็นระเบียบไม่เบียดเสียดกัน ด้านหน้าพระอารามเป็นลานกว้างใช้เป็นเขตโรงเรียน ด้านหลังใช้เป็นเขตฌาปนสถาน ด้านข้างเป็นสุสาน และมีถนนทางเข้าผ่านไปหลังวัด

สิ่งสำคัญในพระอาราม

หอระฆังและหอกลอง

หอระฆังและหอกลองของวัดโสมนัสวิหาร มีลักษณะแปลกจากพระอารามอื่นๆ คือสร้างเป็นหอกลม หลังคาแบบจีน เจาะหน้าต่างเป็นช่องกลม หอระฆังตั้งอยู่ชิดด้านนอกของกำแพง เขต พุทธาวาสด้านซ้าย ส่วนหอกลองตั้งชิดด้านนอกของกำแพงเขตพุทธาวาสด้านขวา

พระวิหาร พระวิหารคด และพระเจดีย์

เป็นปูชนียสถานที่สร้างต่อเนื่องกันเป็นกลุ่มเดียว คือ พระวิหารใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้า หันหน้าออกสู่ถนนใหญ่ มีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ล้อม ๓ ด้าน กำแพงแก้วด้านข้างทั้งสองด้านจะไปบรรจบกับผนังของวิหารคด ซึ่งสร้างเชื่อมต่อกับด้านหลังพระวิหารใหญ่ กำแพงแก้วนี้มีทางเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ตัวพระวิหารเป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันปูนปั้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ลายที่หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและสีทอง เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชเทวี พระวิหารมีระเบียง ๓ ด้าน พนักระเบียงกรุด้วยกระเบื้องเคลือบปรุสีเขียว สุดระเบียงจะเป็นประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารคดทั้งสองข้าง ด้านหน้าพระวิหารมีบันไดทางขึ้นสู่ชานระเบียง ๒ บันได และขึ้นสู่พระวิหาร ๒ บันได ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกลายดอกพุดตาน มีรูปพระมหามงกุฎอยู่ตอนบน บานประตูหน้าต่างภายนอกเขียนลายรดน้ำ ภายในเขียนสี ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรม ที่ต้นเสามีลวดลายโดยลงสีพื้นต่างกันเพื่อแสดงปริศนาธรรม และมีภาพปริศนาธรรมเล็กๆ ที่เสาทุกต้น พระพุทธรูปประธานในบุษบกและพระสาวกบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปที่หล่อในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานสำหรับพระอาราม ด้านหลังพระประธานมีประตูและบันไดลงสู่วิหารคดและลายพระเจดีย์ วิหารคดนี้ นอกจากทางเข้าที่ทางด้านข้างและด้านหลังอีกด้านละ ๑ ทาง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ตรงกลางลานเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ทำนองเดียวกับพระเจดีย์วัดมกุฏกษัตริยาราม

พระอุโบสถ

อยู่ด้านหลังพระวิหารและพระวิหารคด มีกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นอาณาเขตต่างหาก บนกำแพงแก้วมีซุ้มเสมาประจำทั้ง ๘ ทิศ พระอุโบสถมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหารแต่ขนาดย่อมกว่า ต่างกันที่เสาระเบียงเป็นเสาเหลี่ยม และกระเบื้องเคลือบที่กรุพนักระเบียงเป็นสีไพล ที่เสาพระอุโบสถมีเสมาศิลาสร้างติดไว้ทั้ง ๘ ทิศ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มลายดอกพุดตานปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานเขียนลายน้ำเช่นเดียวกับพระวิหาร หน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี ตรงกลางเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหมงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชเทวี ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระพุทธสิริ” ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ คืบ ๖ นิ้ว ซึ่งสมเด็จพระวนรัต (พุทธสิริ) สร้างและอัญเชิญมาจากวัดราชาธิวาส เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๙

ตุ๊กตาศิลา

ในเขตพุทธาวาส มีตุ๊กตาศิลาจีบแบบต่างๆ ตั้งประดับอยู่ตามบริเวณต่างๆ เช่น หน้าทางเข้ากำแพงแก้วพระวิหาร ที่ใต้ร่มไม้ข้างพระวิหาร และบริเวณพระอุโบสถ เป็นต้น ตุ๊กตาเหล่านี้บางตัวยังอยู่ในสภาพดี

กุฏิเสนาสนะ

กุฏิเสนาสนะสงฆ์วัดโสมนัสวิหาร ตั้งอยู่ในเขตสังฆวาส ซึ่งกระหนาบอยู่สองข้างของเขตพุทธาวาส เป็นกุฏิก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ตามลักษณะสถาปัตยกรรมไทย

Top

โรงเรียนวัดโสมนัส

รูปภาพ

โรงเรียนวัดโสมนัส ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๖๔๖/๒ ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพมหานคร เปิดทำการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดโสมนัสวิหารซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัด ซึ่งในปัจจุบันเป็นฌาปนสถานกองทัพบก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้ย้ายมาสร้างอาคารเรียนขึ้นสองหลังที่ด้านหน้าวัดตั้งขนานกับทางด้านเหนือและด้านใต้ ของสนามห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตรเป็นโรงเรียนสังกัดเทศบาลกรุงเทพมหานคร และได้โอนไปขึ้นกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นโรงเรียนสังกัดเทศบาล กระทรวงศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามอาคารหลังใหม่ว่า “โสมนัสวัฒนาวดี” ซึ่งเป็นพระนามของพระนางโสมนัสวัฒนาวดี มเหสีในพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

Top

สะพานเทวกรรมรังรักษ์

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ถนนนครสวรรค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการสร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๔๒ เพื่อเชื่อมถนนตลาดและถนนปลายตลาด ซึ่งได้แก่ ถนน นครสวรรค์ในปัจจุบัน เมื่อสร้างเสร็จได้เสร็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๓ พร้อมกับสะพานอื่นๆ อีก หลายสะพาน คือ สะพานเฉลิมวัง ๔๗ สะพาน อาวาศวิจิตร สะพานนริศดำรัส และสะพานโสมนัสนาครา ต่อมาได้มีการบูรณะปรับปรุงสะพานนี้เป็นสะพานคอนกรีต ในพุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้มีการปรับปรุงสะพานนี้อีกครั้งโดยรื้อสร้างใหม่เพื่อขยายผิวจราจรให้กว้างขึ้น

ลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน ราวสะพานเป็นลูกกรงคอนกรีต ที่ปลายราวสะพานทั้งสี่มุมทำเป็นเสาหัวเม็ดคู่แบบไทย ระหว่างเสาใช้เป็นฐานรองรับโคมไฟโลหะ และที่ฐานเสามีจารึกประวัติการสร้างและบูรณะที่ปลายสะพานด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจารึกนามสะพาน

Top

สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ถนนหลานหลวง ปัจจุบันเรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขาว”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆ ให้กรมโยธาธิการสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๖ เสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๗ พระราชทานนามว่า “สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์” ต่อมากรมโยธาเทศบาลได้ปรับปรุงสร้างใหม่เป็น ๓ สะพานขนานกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีต มีราวสะพานสองข้างเป็นลูกกรงคอนกรีตแบบเรียบมีแผ่นจารึกนามสะพาน พุทธศักราชที่บูรณะที่กึ่งกลางสะพาน แต่ตัดนามสะพานเหลือเพียง “สะพานจตุรพักตร์” ซึ่งผิดไปจากนามที่ได้พระราชทาน ต่อมาได้รับการบูรณะ อีกครั้งและเปลี่ยนป้ายจารึกนามสะพานใหม่ให้ถูกต้องตามนามพระราชทาน พร้อมกับปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นปีที่สร้างดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ที่ปลายราวสะพานทั้งสี่มุมมีเสาไฟคอนกรีตมุมละ ๑ ต้น

Top

ตลาดขายผลไม้มหานาค

รูปภาพ

ตลาดมหานาคตั้งอยู่บริเวณทางเข้าคลองมหานาคเป็นตลาดขายส่งผลไม้หลากหลายชนิด จะเริ่มขายในช่วงเวลา ๐๑.๐๐ น. เป็นต้นไปส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ตามฤดูการราคาไม่แพง

Top

สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองมหานาค ที่ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเป็นสะพานชุด “เจริญ” สะพานที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ประจำพระชนมวาร ให้กรมสุขาภิบาล สร้างเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๔๕๔ และเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน สถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของสะพาน ๑๐๐ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเนื่องในโอกาสพิธีสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ต่อมาสะพานนี้ชำรุด จึงโปรดให้สร้างสะพานขึ้นแทน ในคราวนี้พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒” และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕

สะพานเจริญราษฎร์ ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีลักษณะศิลปกรรมแบบไทยประยุกต์ ราวสะพานสองข้างทำเป็นลูกกรงปูนปั้น กึ่งกลางสะพานเป็นแผ่นจารึกนามสะพานและปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๓๑ ซึ่งสร้างเสร็จ สองข้างแผ่นจารึกมีลายปูนปั้นต้นบอน ที่ปลายราวสะพาน ทำเป็นแท่นเสาตั้งรูปพญานาคปูนปั้น ๕ เศียร กำลังแผ่พังพาน และมีแผ่นโลหะเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ วปร. อยู่กลางรัศมี ประดับอยู่กลางอุ้งพังพาน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแผ่นเดียว

กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนสะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๖๒ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

Top

คลองมหานาค

รูปภาพ

พระบาทสมเด็จพรารามาธิบดีศรีสินทรมาจักรีบรมนาถ  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดในพุทธศักราช 2326  ตั้งต้นจากคลองรอบกรุงที่ข้างพระบรมบรรพต ผ่านถนนบริพัตร ถนนจักรพรรดิพงศ์ ถนนกรุงเกษม ไปบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม  เรียกว่า “สีแยกมหานาค” ไปสุดเขตที่วัดบรมนิวาส

การขุดคลองมหานาคนั้นปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สำหรับประชาชนประชุมเล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำ ตามประเพณีเดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแต่ไม่ได้กล่าวถึงขนาดของคลองมหานาคไว้ นอกจากนี้ได้กล่าวว่า  มีพระราชดำริจะสร้างสะพานข้างข้ามคลองรอบกรุงตอนเหนือคลองมหานาคแต่พระพิมลธรรม  วัดพระเชตุพล กราบทูลทัดทานไว้ ด้วยไม่เคยมีแบบอย่างมาแต่โบราณทั้งจะเป็นโอกาสให้ข้าศึกบุกเข้าสู่ชานพระนครได้ง่ายในเวลาสงคราม จึงทรงระงับการสร้างสะพานเปลี่ยนเป็นสร้างท่าช้างไว้ทั้งสองฟากคลอง

คลองมหานาคสมัยต่อมาเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกมหานาค เป็นบริเวณที่เรือสินค้าต่างๆ มาชุมนุมค้าขายกันอย่างคับคั่ง ปัจจุบันสภาพคลองตื้นเขินน้ำเน่าเสียดังเช่นคลองอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ ให้คลองมหานาคเป็นคลองหนึ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้

Top

ตลาดขายเสื้อผ้าโบ๊เบ๊

ตลาดโบ๊เบ๊เป็นตลาดเสื้อผ้าขนาดใหม่ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมช่วงระหว่างสะพานกษัตริย์ศึกกับตลาดมหานาค  กำเนิดมานานกว่า ๔๐ ปีส่วนใหญ่จะขายเป็นลักษณะยกโหลมีมากมายหลายชนิดคุณภาพก็พอใช้ได้เป็นที่นิยมชองคนทั่วไป

Top

มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

รูปภาพ

โครงการนี้ได้รับการจัดตั้งเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยมีชื่อว่า “มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทางอากาศ” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มูลนิธิได้เพิ่มพื้นที่ในการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” (มูลนิธิ พอ.สว.) ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และหน่วยแพทย์ทางวิทยุ โดยมีขอบเขตของกิจกรรมหลักที่ให้บริการ ๗ ประเภทด้วยกัน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบไปด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์สำหรับให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพ ซึ่งบุคคลากรทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาสาสมัคร ที่มาจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะออกให้บริการแก่ประชาชนทุกเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัต-ฤกษ์ โดยจะออกเดินทางให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงทาง เฮลิคอปเตอร์ เรือ และรถยนต์ ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศของพื้นที่ที่จะไปให้บริการ ในตอนต้นจะออกให้บริการทางเฮลิคอปเตอร์บ่อยครั้ง เนื่องจากหลายหมู่บ้านในชนบทการ
คมนาคมยังไม่สะดวกสบาย ไม่มีถนนตัดเข้าสู่หมู่บ้าน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทำการตั้งหน่วยให้บริการที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน หรือในกระท่อมของชาวบ้านที่สามารถตั้งหน่วยให้บริการได้ หรือแม้กระทั่งในรถตู้ของหน่วยแพทย์เอง โดยจะให้บริการรักษาตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด อาการปวดท้อง ปวดฟัน ท้องร่วง พยาธิในลำไส้ โรคคอตีบ ในกรณีฉุกเฉิน คนไข้มีอาการหนักมาก หน่วยแพทย์จะนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หากคนไข้รายใดต้องได้รับการผ่าตัด หน่วยแพทย์ก็จะใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เช่นกัน ในการให้บริการทั้งหมดนี้ ประชาชนจะได้รับบริการฟรี ทั้งค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารและค่าขนส่ง ระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากที่ได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาแล้ว หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่จะออกให้บริการประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้ถึง ๓๑ จังหวัด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีประชาชนในชนบทที่ได้รับบริการจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มากถึง ๗๐๐,๐๐๐ คน และจากอาสาสมัครในปีแรกที่ก่อตั้งโครงการจำนวน ๒๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพิ่มขึ้นมากถึง ๒๖,๕๙๒ คน ซึ่งประจำอยู่ ๕๐ จังหวัดทั่วประเทศ ในปัจจุบันหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มีกำหนดการให้บริการประชาชนในชนบทหมู่บ้านละ ๓ ครั้งต่อปี

Top

กระทรวงพลังงาน

รูปภาพ

กระทรวงพลังงาน ตั้งอยู่ที่บ้านพิบูลธรรม เลขที่ ๑๗ เชิงสะพานกษัตริย์ศึก เขตปทุมวันปัจจุบันกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดกระทรวง ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณ บ้านพิบูลธรรม เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ยศเส เดิม

บ้านพิบูลธรรมเดิมชื่อบ้านนนที เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา-วชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาธิบดีกระทรวงวัง ซึ่งคงได้สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ อันเป็นปีที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยา บ้านนี้มีชื่อว่าบ้านนนที ตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอินทร์ (ตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง คือคราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีอยู่ที่บ้านหลังนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ต่อมารัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซื้อไว้เป็นบ้านรับรองแขกเมือง เปลี่ยนชื่อว่าบ้านพิบูลธรรมจน พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงมอบให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติดังกล่าวแล้วในข้างต้น

ปัจจุบัน ภายในบ้านพิบูลธรรมมีอาคารเก่าแต่แรกสร้างซึ่งมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมอยู่ ๒ หลัง และศาลาไม้อีกหลังหนึ่ง คือ อาคารสำนักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า และอาคาร   กองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสำนักเลขานุการกรมและด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน

อาคารทั้งสองหลังสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปที่นิยมในยุคนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท เป็นอาคาร ๒ ชั้น รูปทรงตามปีกอาคารสองข้าง และมีส่วนโค้งส่วนหักมุมและเฉลียงต่างกันแต่ได้สัดส่วนกลมกลืน ประดับลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมหน้าวัวหรือพระโคนนทีติดอยู่ที่เหนือประตู เฉลียงที่มุมขวาของตึกหน้า และที่ผนังข้างประตูหน้าและเหนือประตูเฉลียงข้างของตึกหลังมีสะพานคอนกรีตเชื่อมชั้น ๒ ของอาคารทั้ง ๒ หลัง

อาคารทั้งสองหลังตกแต่งภายในอย่างวิจิตรด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารในซึ่งตอนหน้าส่วนกลางก่อเป็นห้องชั้นที่ 3 อีกห้องหนึ่งนั้น ด้านหลังเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นห้องโถงเอกของบ้าน โดยโถงหน้าเป็นทางเชื่อมจากส่วนหน้าของอาคารสู่โถงในซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงนี้จึงเหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม ภายในห้องโถงนี้กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกรูปรามสูรเมขลา โถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากำลังต่อสู้กับนกสดายุ เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจากระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ห้องโถงนี้ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลียงรับรอง ห้องด้านหน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกันประดับที่ฝาผนังด้านขวา จับภาพตอนพระรามตามกวาง ส่าวนเพดานห้องเขียนรูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง

ศาลาไม้ เป็นศาลาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับไม้สลักตามพนักระเบียงเสา และหูช้างรับกับตัวอาคารทั้งสองหลัง พื้นปูนหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องว่าว

อาคารเหล่านี้ได้รับการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย และทาสีใหม่ สภาพอาคารหลังใหญ่ค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม มีรอยร้าวในบางแห่งกรมศิลปากรได้ตรวจสภาพภาพจิตรกรรมแล้วขอให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติซ่อมหลังคาแล้วทิ้งไว้ 2-3 ปีเพื่อให้ความชื้นภายในแห้งก่อนจึงจะดำเนินการซ่อมแซมภาพจิตรกรรม ซึ่งสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอน และจะได้ดำเนินการของบประมาณซ่อมแซมภาพจิตรกรรมต่อไป

Top

สะพานกษัตริย์ศึก

รูปภาพ

สะพานกษัตริย์ศึกมี ๒ ช่วง คือ ตอนที่ข้ามทางรถไฟ และข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ถนนพระรามที่ ๑ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

สะพานกษัตริย์ศึกสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสร้างสะพานนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้างสะพานพระราม ๖ ด้วยสะพานดังกล่าวเชื่อมทางรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สถานีรถไฟกรุงเทพฯ จึงเป็นสถานีใหญ่ที่รวมรถไฟทุกสายที่เข้าและออกจากพระนคร เมื่อมีขบวนแล่นเข้าออกจากสถานีเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องปิดกั้นการจราจรในถนนพระรามที่ ๑ เพื่อให้รถไฟผ่านบ่อยครั้ง ทำให้การจราจรในถนนพระรามที่ ๑ ไม่คล่องตัวและผู้สัญจรไปมาบนท้องถนนต้องเสียเวลาด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบวมราชโองการให้กรมรถไฟหลวงสร้างสะพานข้ามรถไฟขึ้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างในพุทธศักราช ๒๔๗๐ โดยมีบริษัทบางกอกต็อก จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ลักษณะตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีบาทวิถีสองข้าง ข้ามทางรถไฟและลาดไปทางด้านตะวันออกของทางรถไฟตามถนนพระราม ๑ไปบรรจบกับพื้นราบตามเดิม ที่เชิงสะพานด้านตะวันออกมีทางลาดเลี้ยวลงไปตามถนนรองเมือง เพื่อเชื่อมกับการคมนาคมระหว่างถนนพระรามที่ ๑ และถนนรองเมือง ด้านตะวันตกลาดลงไปบรรจบเขื่อนสะพานช่วงที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม สิ้นค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน ๒๗๒,๕๔๗ บาท เงินของบริษัทไฟฟ้าสยามครึ่งหนึ่ง เพื่อของสิทธิ์เดินรถรางบนถนนนี้

สะพานตอนข้ามคลองผดุงกรุงเกษมนั้น เดิมมีสะพานยศเส ซี่งพระยายศเสสร้างในการทำบุญฉลองอายุเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นสะพานไม้ ราวลูกกรงเหล็ก ตอม่อก่ออิฐ คานเหล็กราวเชิงสะพานก่ออิฐ ได้โปรดให้รื้อสะพานนี้สร้างใหม่ ให้กว้างและมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิมเพื่อความสะดวกในการจราจร สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมนี้ กรมนครราทรเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างในพุทธศักราช ๒๔๗๑ โดยจ้างเหมาให้นายสะเปรอตติ ช่างผู้เชี่ยวชาญชาวอิตาเลียนเป็นผู้ดำเนินการ ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีบาทวิถีสองข้าง เขื่อนสะพานด้านตะวันออกเชื่อมกับเขื่อนสะพานทางรถไฟ ค่าก่อสร้าง ๕๓,๓๗๐ บาท บริษัทไฟฟ้าสยามออกเงินช่วยร้อยละ ๒๖ เป็นเงิน ๑๕,๔๓๖.๒๐ บาท สร้างแล้วเสร็จพร้อมกับสะพานรถไฟ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สะพานกษัตริย์ศึก” เพื่อให้สัมพันธ์กับนามถนนพระราชที่ ๑ ที่พระราชทานเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพาน ในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๒ ได้มีการขยายผิวจราจรบนทางข้ามรถไฟส่วนด้านทางแยกด้านถนนรองเมืองคงเดิม

Top

โรงเรียนเทพศิรินทร์

รูปภาพ

โรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดกรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๖๖ ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๘ ไร่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา เป็นที่ของวัดเทพศิริทราวาส  ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ (เจริญ ญาณวรเถร) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ แห่งวัดเทพศิรินทราวาสได้มอบที่ดินส่วนนี้ให้โรงเรียนปกครองทั้งหมดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๔๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ปฏิรูปการศึกษาของชาติเพื่อให้การศึกษาแพร่หลายไปสู่อาณาประชาราษฎร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดตั้งโรงเรียนราษฏรตามพระอารามทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองโดยพระราชคำนึงว่าวัดเคยเป็นศูนย์กลางของการศึกษามาแต่โบราณ และเป็นการสะดวกทั้งปวง

ในบรรดาโรงเรียนหลวงที่โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งวัดต่างๆ นั้น เป็นโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยเช่นเดียวกับโรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นตามพระบรมมหาราชวัง แนวการศึกษาไปในทางวิชาหนังสือไทย วิชาเลขและขนบธรรมเนียมราชการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความสามารถพอที่จะรับราชการได้

จากหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓ หน้า ๑๙๙-๒๐๐

รายงานโรงเรียน ออฟฟิศ  กระทรวงมหาดเล็กมีใจความว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอพระราชทานทำรายงานโรงเรียนทั้งปวง เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ปีระกา สัปตศก ศักราช ๑๒๔๘ (พุทธศักราช ๒๔๒๘)

จำนวนโรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่ในเดือนยี่ วัดปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรีแห่ง ๑ วัดสัตนารถ- บริวัตร เมืองราชบุรีแห่ง ๑ ครั้งใหม่ในเดือนสามวัดเทพศิรินทร์แห่ง ๑ วัดคงคาราม เมืองเพชรบุรี ๑...”

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนนั้นได้อาศัยสาลาการเปรียญในวัด เป็นที่ศึกษาเล่าเรียน ครั้นถึงปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๔ (พุทธศักราช ๒๔๓๘) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วรเดช พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระเทพศิริทราบรมราชินี ทรงพระดำริจัดสร้างโรงเรียนสำหรับวัดเทพศิริทราวาสขึ้น เพื่ออุทิศกุศลสนองพระเดชพระคุณพระชนนี  และเป็นอนุสรณ์แก่หม่อมแม้นพระชายาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วย เมื่อการสร้างดำเนินไปแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามตึกแม้นนฤมิตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งโรงเรียนพระราชทานนามว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ (พุทธศักราช ๒๔๔๕)

ปัจจุบันโรงเรียนเทพศิรินทร์  มีอายุมากกว่าหนึ่งศตวรรษ ได้สั่งสมคุณงามความดีและสร้างสรรค์บุคลสำคัญของชาติหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่เจ้าฟ้าจนถึงข้าแผ่นดินสนองพระราโชบาย ในองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงประสงค์ให้อาณาประชาราษฎร์มีวิชาความรู้ซึ่งเป็นคุณแก่บ้านเมืองอย่างอเนกอนันต์

Top

วัดเทพศิรินทราวาส

รูปภาพ

วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ในตำบลยศเส อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร ด้านตะวันออกจนคลองผดุงกรุงเกษม ด้านตะวันตกและด้านเหนือจดคูวัด ด้านใต้จดถนนหลวง ตั้งแต่สร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดมาจนถึงบัดนี้ (ปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗) นับได้ ๕๗ ปี มีเจ้าอาวาสปกครอง ๕ องค์ คือยุคที่ ๑ พระอริยมุนี (อายุวฑฒโน เอม) ครองวัดได้ ๖ ปี ยุคที่ ๒ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ฐานจาโร เดช) ครองวัดได้ ๑๑ ปี ยุคที่ ๓ พระวินัยรักขิต (กาฬนาโม นาม) ครองวัดได้ ๓ เดือนเศษ ยุคที่ ๔ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร (ธมมรโต พร้อม ลดาวัลย์) ทรงครองวัดได้ ๔ ปี ยุคที่ ๕ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร เจริญ สุขบท) ครองวัดมาแต่ปลายปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ จนถึงบัดนี้ นับได้ ๓๖ ปีแล้ว และยังคงครองอยู่ (คำว่า ยุค นั้น ในที่นี้กำหนดตามระยะกาลที่เจ้าอาวาสหนึ่งๆ ครองวัด เพื่อสะดวกแก่การที่จะเรียบเรียงตำนานนี้ต่อไป)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามนี้ ในสมัยที่ดำรงพระชันษาเข้าเขตเบญจเพศมงคล เพื่อถวายพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี ด้วยพระราชหฤทัยกอปรด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาคุณ อันเจริญพรั่งพร้อมในพระบรมราชสันดาน พระราชทานนามว่า วัดเทพศิรินทราวาส ด้วยพระราชประสงค์ให้สอดคล้องกับพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมราชชนนี ประหนึ่งว่าได้โปรดให้สร้างวัดด้วยพระองค์เองเป็นวัดของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายตลอดมา

ชั้นของวัดนี้ เดิมทีคงยังไม่แน่นอนนัก ด้วยสังเกตเห็นคำลงท้ายตามที่ปรากฏในสัญญาบัตร ทรงตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่มีเป็น ๒ อย่าง คือ วรวิหาร กับ ราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์พระอมราภิ-รักขิต (เจริญ) เป็นพระราชมุนี ใช้ คำว่า ราชวรวิหาร ครั้นมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์พระเทพกวี (เจริญ) เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ กลับใช้คำว่า วรวิหาร อีก ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ แผนกกรมสังฆการี ว่าด้วยเรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง รวมพระอารามนี้ไว้ในประเภทราชวรวิหาร ชั้นโท เพราะฉะนั้น พระอารามนี้ จึงยุกติเป็นชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

คำว่า เทพศิรินทร์ นอกจากเป็นชื่อของวัด ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งโรงพยาบาล ที่ริมถนนกรุงเกษมใกล้กับวัดเทพศิรินทร์ อยู่ในทิศใต้ของวัด (ตรงที่ซึ่งภายหลังตั้งเป็นสถานโอสถศาลาของรัฐบาล) ก็พระราชทานนามว่า เทพศิรินทรพยาบาล ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ มีโรงเรียนมัธยมตั้งขึ้นในบริเวณหน้าวัด ก็ตั้งชื่อโรงเรียนตามนามของวัดว่า โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ แต่อักษรท้ายคำนั้นเขียนต่างกัน เป็น -ทร ก็มี เป็น -ธร ก็มี อำมาตย์ตรีพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) เล่าว่า ท่านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้พบคำว่า ศิรินธรา เป็นนามของเทพธิดาองค์หนึ่ง จึงลงสันนิษฐานว่าเทพศิรินทร์ ควรจะเป็น เทพศิรินธร มีผู้อื่นเห็นคล้อยตามท่านก็มาก แต่ฝ่ายในวัดยังคงเขียนเทพศิรินทร เป็นพื้นอยู่ ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทอดพระเนตรเห็นการเขียนคำนั้นไม่ต้องกัน ด้วยต่างฝ่ายต่างเขียน ชวนจะวุ่นๆไม่ลงระเบียบจึงสอบสวนเค้าเดิมว่าจะมีอย่างไรแน่ จนได้หลักฐานที่ควรฟังเป็นประมาณแล้ว มีลายพระหัตถ์ประทานแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงชี้แจงอักษรนิยมสำหรับคำนั้น เพื่อให้ใช้ถูกต้อง จึงเขียนเทพศิรินทร ยุกติเป็นอย่างเดียวกันสืบมา ได้คัดสำเนาลายพระหัตถ์นั้นมาลงไว้ให้ปรากฏในที่นี้ด้วย

 

ที่ ๓๒ / ๑๘๒                                                                                                                                                                               ตำหนักจันทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ชื่อวัดเทพศิรินทราวาส มาเขียนกันว่า เทพศิรินทราวาส ที่แปลว่า วัดของท่านผู้ทรงศรีแห่งเทวดา ดูความเสียมาก ไม่หมายความว่าพระอินทร์เลย ฉันเข้าใจว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) ผู้คิดพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๕ คงจะหมายความอย่างอื่น คือ เทพศรีอินทร เข้าสนธิเป็น เทพศิรินทร แปลความว่า พระจอมเกล้าของเทวดา ใช้ในสตรีลิงค์ หมายความว่า พระมเหสีของพระจอมเกล้าแห่งเทวดา ได้สอบดูอักษรจารึกพระโกศพระบรมอัฐิและพระโกศพระอัฐิพระชนนีของท่านเขียนว่า กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ทุกแห่ง ฉันได้ทูลสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารในแผ่นดินปัจจุบัน ทรงพระอนุมัติและตรัสให้ใช้ตามนี้ ต่อมาได้พบสำเนาประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยในสมุดประกาศตั้งกรม ซึ่งได้พิมพ์แจกเมื่อพระเมรุวัดราชาธิ-วาสคราวนี้ ก็ใช้อักษรเช่นนั้น เจ้าแบบแผนในชั้นหลังไม่รู้เท่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เห็นศัพท์ในอรรกถาธรรมบทว่า เทวรชชสิริธโร ก็แก้เป็น เทพศิรินธร ไปเสียเช่นนี้ จะต้องอ่านว่าเทพศิรินธอน วันนี้อ่านร่างทำเนียบเห็นเขียนชื่อว่า วัดเทพศิรินธราวาส จึงบอกมาให้รู้ เพื่อใช้ให้ถูกหลัก

(ลงพระนาม) กรมวชิรญาณวโรรส

 

พื้นที่เมื่อก่อนสร้างวัดนี้ ตอนใกล้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นนา ส่วนทางตะวันตกพ้นถนนพลับพลาชัยออกไปเป็นสวน (เดี๋ยวนี้ยังเรียกตำบลสวนมะลิ) ถัดไปข้างเหนือเป็นตำบลยศเส ข้างทิศใต้ตอนใกล้ผดุงกรุงเกษมมีป้อมตั้งอยู่ป้อมหนึ่ง (สร้างในรัชกาลที่ ๔) ชื่อป้อมผลาญศัตรูราบ ในทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ดอน มีวัดพลับพลาชัยตั้งอยู่ (ซึ่งคนชาวบ้านถิ่นนั้นเรียกกันว่า วัดโคก) เมื่อจะว่าถึงสิทธิใครจะเป็นเจ้าของยังไม่ทราบแน่ ได้ยินว่า ดูเหมือนจะเป็นที่ของสมเด็จพระเทพศิริน-ทรามาตย์ ถ้าไม่ใช่ เหตุไฉนจึงโปรดให้สร้างตรงนั้นเล่า เพราะใกล้ชิดกับวัดพลับพลาชัย ซึ่งตั้งอยู่ก่อน บางท่านเล่าตามข่าวที่ได้ยินมาอีกทอดหนึ่งว่า เป็นที่ของฝ่ายในบ้าง เป็นที่ของชาวบ้านบ้าง อีกเสียงหนึ่งว่า ที่ในเขตนั้นต้องซื้อบ้าง ขับไล่บ้าง เท่าที่ทราบเพียงนี้จึงยังไม่แน่นอนลงไปว่า ใครเป็นเจ้าของมาแต่เดิม แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งตามที่หม่อมเจ้าพร้อมลดาวัลย์ ตรัสเล่าว่า กระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไม่โปรดที่แคบเหมือนวัดโสมนัสวิหาร ต้องพระราชประสงค์ที่กว้างกว่านั้น และเฉพาะอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมเป็นแนวเดียวกับวัดนั้นด้วย บริเวณนี้กว้างขวาง ปราศจากถาวรวัตถุและสิ่งที่เป็นหลักสำคัญอันจะกีดต่อการก่อสร้าง เป็นที่ต้องด้วยพระราชนิยม เหมาะกว่าแห่งอื่นมีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ ซึ่งครั้งนั้นยังเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นฯ เป็นแม่กองสร้างพระอารามนี้ พระศิริสมบัติ (กร) คราวนั้นยังเป็นขุนท่องสื่อคนหนึ่ง และพระวิจิตร์รจนา ซึ่งยังเป็นขุนมีนามอย่างนั้นอีกคนหนึ่งเป็นนายด้าน เห็นจะได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ก่อนยกวัด ๒ ปี

เขตวัดครั้งแรกเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูโอบเกือบรอบคล้ายเกาะ ตอนหน้าเป็นลานไม่มีกำแพงล้อม เหมือนกับวัดมกุฏกษัตริย์และวัดโสมนัสวิหาร คูนั้นขุดชักไปจากคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่ทิศเหนือ ปากกว้าง ๒ วา ๒ ศอก ลึก ๓ ศอกเศษ ที่ต้นคูทำให้ถนนกรุงเกษมขาดจากกันจึงสร้างสะพานไม้สำหรับข้าม แต่ปลายคูหาได้ขุดยื่นไปจดคลองผดุงไม่ คงเว้นไว้เท่าระยะส่วนกว้างของถนนกรุง-เกษม เพื่อจะทำสะพานข้ามเหมือนตอนเหนือ แต่ยังไม่ได้ทำ ภายหลังกระทรวงโยธาธิการถมคูด้านใต้ทำถนนหลวง ดังปรากฏอยู่ในบัดนี้ ดินในลำคูที่ขุดนี้เอาถมพื้นวัดแต่ก็เลือกถมพื้นที่จะสร้างวัตถุสถานก่อน เพราะไม่พอจะถมให้ทั่วกัน เขตวัดชั้นในก่อกำแพงล้อมรอบ กำแพงนั้นหนา ๖๐ เซนติเมตร สูงจากพื้นดิน ๒.๖๐ เมตร ตอนล่างทึบ ตอนบนทำช่องรูปไข่และทับหลังเป็นหน้ากระดาน กำแพงแนวหน้ามี ๓ ประตู คือประตูซ้ายสำหรับเข้าออกคณะเหนือ มีรูปและขนาดกว้างสูงเท่ากับประตูขวา ประตูกลางเป็นจัตุรมุขย่อมุม เป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้องสลับสีอย่างงดงาม กรอบประตูกว้าง ๒.๑๘ เมตร จากพื้นสูงถึงเช็ดหน้า ๓.๕๐ เมตร จากทับหลังถึงคนซุ้ม ๔.๕๑ เมตร จากคอซุ้มถึงขาดยอด ๑๐.๒๖ เมตร ประตูนี้เรียกว่าประตูซุ้ม ส่วนประตูขวามีกรอบกว้าง ๑.๗๕ เมตร สูงถึงเช็ดหน้า ๓.๑๑ เมตร จากทับหลังประตูขึ้นไป เป็นรูปหน้าจั่วลาดๆ (ทรงเดียวกับหน้าจั่วกุฎีศาลาการเปรียญ) ทั้ง ๒ ข้างประตูซุ้มสร้างศาลาโถงติดกำแพงข้างละหลัง ฐานกว้าง ๗.๘๒ เมตร ยาว ๑๗.๓๖ เมตร พื้นปูกระเบื้องหน้าวัวเสาก่ออิฐถือปูน สูงจากพื้นถึงปลายเสาชาย ๓.๔๐ เมตร หลังคามุงกระเบื้องไทย วัดจากพื้นถึงขาดยอดสูง ๖ เมตร ระหว่างศาลากับประตูขวาและประตูซ้าย สร้างหอระฆังติดกับกำแพงอีก ๒ หอ ตรงหัวประจบกำแพงคั่นคณะ ก่อฐานหอสูงเท่ากำแพง ส่วนหอนั้นสูงพ้นกำแพงขึ้นไปถึงขาดยอด ๑๒.๓๐ เมตร ยอดเป็นมงกุฎทรงเดียวกับประตูซุ้ม และประดับกระเบื้องก็เช่นเดียวกัน ผิดกันที่ไม่ขยายเป็นจัตุรมุขเท่านั้น กำแพงแนวเหนือมี ๒ ประตู แนวหลังมี ๔ ประตูคือสำหรับเข้าออกคณะเหนือประตู ๑ คณะใต้ประตู ๑ ตอนกลางสำหรับเข้าออกบริเวณพระอุโบสถ ๒ ประตู ในระหว่าง ๒ ประตูตอนกลางนี้ สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่ง (ตรงที่สร้างกุฎีใหญ่คณะกลางในบัดนี้) เป็นศาลาโถงติดกำแพง มีขนาดและทรวดทรงเหมือนกับศาลาข้างประตูซุ้ม เว้นแต่พื้นเป็นดิน ศาลานี้ไม่สู้มีประโยชน์แก่วัดนัก เพราะสมัยนั้นยังนับว่าเป็นที่เปลี่ยว ด้วยตั้งอยู่ห่างหมู่กุฎี จึงอาศัยเป็นที่เก็บศพภิกษุสามเณรที่ถึงมรณภาพในวัด ส่วนกำแพงแนวใต้มีประตูเดียวภายในเขตกำแพงนี้แบ่งเป็น ๓ บริเวณ คือบริเวณเหนือ (ซึ่งบัดนี้เรียกว่าคณะเหนือ) ๑ บริเวณพระอุโบสถ ๑ บริเวณใต้ (ซึ่งบัดนี้เรียกว่าคณะใต้) ๑ ส่วนบริเวณหลังพระอุโบสถ (ซึ่งบัดนี้ เรียกว่าคณะกลาง) ยังไม่มีในเวลานั้น เพราะความประสงค์ในชั้นแรกสร้าง จะให้มีหมู่เสนาสนะ แต่ในบริเวณเหนือกับบริเวณใต้เท่านั้น ส่วนคณะกลางมาเริ่มมีขึ้นในยุคที่ ๒ ทั้งได้ก่อสร้างเพิ่มเติมในยุคที่ ๔ และที่ ๕ เป็นลำดับมาอีก ระหว่างบริเวณเหนือกับบริเวณพระอุโบสถก่อกำแพงคั่นไว้มีประตูเข้าออก ๑ ประตู แม้ในระหว่างใต้กับบริเวณพระอุโบสถ ก็มีกำแพงคั่นอีกเหมือนกัน แต่กำแพงนั้นไม่ยื่นไปจดกำแพงแนวหน้า ไม่เหมือนกำแพงคั่นคณะเหนือ ทำให้เสียความงามไปหน่อย ส่วนประตูก็มี ๑ ประตูเช่นเดียวกัน สำหรับบริเวณพระอุโบสถก่อกำแพงแก้วล้อมอีกชั้นหนึ่ง ตัวกำแพงสูง ๑.๗๐ เมตร ชักแนวเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสทุกแนว ทำช่องขาดสำหรับเป็นทางเข้าออกไว้แนวละ ๒ ช่อง ทำหัวเม็ดเฉพาะ ๒ ช่องในแนวหน้า ส่วนช่องในแนวอื่นหาทำหัวเม็ดไม่ แนวตะวันออกห่างจากกำแพงวัดหน้า ๑๖.๗๒ เมตร แนวตะวันตกห่างจากกำแพงวัดแนวหลังเป็นระยะเหลื่อมกันอยู่ คือทางประตูตะวันตกเฉียงเหนือห่าง ๒๒.๙๐ เมตร ทางประตูตะวันตกเฉียงใต้ห่าง ๑๕.๒๐ เมตร นี่แสดงให้เห็นว่า กำแพงวัดแนวหลังหาได้ยื่นจากเหนือเป็นเส้นตรงไปทางใต้ทีเดียวไม่ แนวเฉเสี้ยวไปทางตะวันออกประมาณ ๘ เมตร แนวเหนือห่างจากกำแพงคั่นคณะเหนือ ๖.๑๐ เมตร แนวใต้ห่างจากกำแพงคั่นคณะใต้ ๖.๑๐ เมตรเท่ากัน ที่กำแพงแก้วนี้ตามมุมทั้ง ๔ และระหว่างกลางอีก ๔ ก่อฐานสี่เหลี่ยมย่อไม้สิบสองสำหรับปลูกต้นไม้บ้าง เป็นบ่อน้ำขังบ้าง เป็นที่วางก้อนศิลาบ้าง รวม ๘ แห่ง เพื่อให้เป็นนิมิตสีมาต่อไปบริเวณเหนือซึ่งต่อไปเรียกว่าคณะเหนือ ส่วนกว้าง ๓๓.๕๐ เมตร ยาว ๑๒๔.๔๕ เมตร แบ่งที่สร้างเป็น ๒ ฟาก ไว้ทางเดินกลาง คือจากประตูตะวันออกตรงไปประตูตะวันตก เว้นให้ว่างพอทำถนนได้ สร้างศาลาและกุฎีติดกับกำแพงคั่นคณะเหนือตอนใกล้บริเวณพระอุโบสถแถวหนึ่ง (ต่อไปจะเรียกว่าแถวใน) ตอนตรงข้ามซึ่งเป็นฟากเหนืออีกแถวหนึ่ง (ต่อไปจะเรียกว่าแถวนอก) ตั้งต้นจากที่ใกล้ประตูตะวันออก สร้างศาลาดินหลังหนึ่ง เป็นต้นแถวของกุฎีแถวใน ศาลานั้นกว้าง ๗.๗๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ส่วนสูงเท่ากับศาลาข้างประตูซุ้ม ต่อจากศาลาก็สร้างกุฎี ๕ หลัง (นับตามห้องเป็น ๑๑ ห้อง) ระหว่างหลังที่ ๒ กับหลังที่ ๓ นั้น เป็นทางเข้าออกประตูกำแพงคั่นคณะ ซึ่งสำหรับเป็นที่ไปมาติดต่อกับบริเวณพระอุโบสถ ต้นกุฎีแถวนอก สร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีแถวนอก สร้างเป็น ๒ หมู่ ไม่ทำหันหน้าหาถนนกลางคณะเหมือนแถวใน หมู่ต้นมีกำแพงล้อมโอบการเปรียญไว้ด้วย ทำประตูเข้าออกติดต่อถนนกลางคณะ ๒ ประตู สำหรับเข้าออกทางเหนืออีก ๑ ประตู สร้างกุฎี ๓ หลัง เป็นกุฎีใหญ่ (สำหรับเจ้าอาวาสอยู่) หลังหนึ่ง อีก ๒ หลังนั้น (นับตามห้องเป็น ๔ ห้อง) หันหน้าหากุฎีใหญ่ ส่วนกุฎีใหญ่หันหน้าหาถนนกลางคณะทางหน้ากุฎีใหญ่ตอนซ้ายใกล้ประตูสร้างกับปิยกุฎีไว้หลังหนึ่ง ถัดมาทางขวาซึ่งตรงข้ามกับกัปปิยกุฎีนั้น ก็สร้างกัปปิยกุฎีไว้อีกหลังหนึ่ง ไม่ยกพื้น แต่พื้นปูกระเบื้องหน้าวัวเหมือนกันทั้งสองหลัง กุฎีหมู่ต้นนี้มี ๕ ห้อง ส่วนหมู่ถัดไปอีก ๔ หลังหันหน้าหากัน เป็นกุฎี ๘ ห้อง ไม่มีกำแพงล้อมรอบ ถัดจากหมู่นี้ไปขุดสระน้ำกรุอิฐถือปูนไว้สระหนึ่ง ตรงแนวประตูตะวันตกทางขวามือ ก่อวัจจกุฎีเป็นตึกมุงกระเบื้องไทยแถวหนึ่ง ๖ ห้อง การเปรียญและกุฎีทุกหลังไม่มีกันสาด ฝ้าในกุฎีใหญ่ทำด้วยไม้ล้วน แต่กุฎีนอกนั้นทำเป็น ๒ อย่าง คือฝ้าห้องเฉลียงทำด้วยไม้ ส่วนฝ้าห้องในทำด้วยแผงถือปูน ข้าพเจ้าคิดฉงนใจว่า ทำไมจึงทำไม่เหมือนกัน ได้ความจากนายผลัด กรลักษณ์ บุตรพระศิริสมบัติ (กร) ผู้ซึ่งเป็นนายด้านก่อสร้างครั้งนั้นคนหนึ่งว่า การที่ฝ้าห้องในทำด้วยแผงนั้นเพราะเร่งจะทำให้เสร็จทันงานยกวัด ซึ่งกำหนดกระชั้นเข้ามาแล้ว ถ้าจะทำด้วยไม้ เกรงจะไม่ทันแต่ข้อนี้เมื่อพิเคราะห์ดูคณะใต้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่เข้าใจเลยว่า การเร่งรีบนั้นเป็นเหตุที่แน่นอน เพราะคณะใต้นั้นสร้างเมื่อยกวัดแล้ว เป็นงานที่ค่อยทำค่อยเสร็จ ไม่มีข้ออ้างว่าเร่งร้อนอย่างไร เหตุไฉนฝ้าห้องในจึงไม่มี แม้เพียงแต่ผ้าดาดแทนแผงก็ไม่มี ส่วนฝ้าห้องเฉลียงทำด้วยไม้ดุจกุฎีในคณะเหนือ แต่ไม่ได้ทาสี กุฎีทุกหลังเป็น ๒ ชั้นเหมือนกันหมด จากชั้นล่าง (คือพื้นดิน) ถึงพื้นกระดานอันเป็นพื้นบนสูง ๒.๓๐ เมตร จากพื้นบนถึงสุดผนังสูง ๓.๗๐ เมตร จากลานดินถึงขาดยอดสูง ๘.๒๐ เมตร ชั้นล่างของกุฎีทั่วไปไม่ได้ยกพื้น ทั้งไม่ได้ปูอิฐหรือกระเบื้องเลย คงเป็นดินล้วนๆและไม่ได้ปราบให้เสมอ ชั้นล่างนั้นอาศัยไม่ได้ ระดับต่ำกว่าลานดิน อันเป็นชานกุฎีอยู่โดยรอบเป็นเหตุให้น้ำซึมเข้าไปเอิบดินภายในชื่นแฉะ บันไดขึ้นลงชั้นบนทุกกุฎีก่อไว้ข้างนอกคั่นบันไดด้วยศิลาจีนขรุขระ รวมกุฎีในคณะเหนือมี ๒๔ ห้อง การเปรียญสร้างไม่เสร็จทันงานยกวัด ถนนยังคงเป็นพื้นดิน แต่พูนให้สูงขึ้นนิดหน่อย ในบริเวณกำแพงแก้ว กำหนดที่เป็น ๓ ตอน คือตอนริมข้างเหนือจะสร้างพระอุโบสถตอนกลางจะสร้างฐานพระศรีมหาโพธิ ตอนริมข้างใต้จะสร้างพระวิหารจัตุรมุขยอดปรางค์ ตามเค้านี้ ถ้าสร้างสำเร็จทุกอย่างแล้ว จะงดงามหาน้อยไม่ พระอุโบสถนั้นเริ่มฝังรากพอจะเสร็จ ส่วนฐานพระศรีมหาโพธิก่อแล้วก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นรูปฐานปัทม์ย่อไม้สิบสอง ห่างจากฐานพระอุโบสถ ๑๓.๔๓ เมตร วัดรอบฐาน ๔๐ เมตร ฐานสูง ๒.๔๐ เมตร และทำพนักรูปฟักโดยรอบสูงขึ้นไปอีก ๙๒ เซนติเมตร ถมดินข้างในสูงเท่ากับฐานแล้วลาดปูนเป็นพื้นบน และก่อขอบกลมล้อมดินให้สูงจากพื้นบนของฐานอีก ๔๐ เซนติเมตร ก่อบันไดขึ้นลงด้านตะวันออกกว้าง ๒ เมตร โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญต้นพระศรีมหาโพธิแห่มาปลูก เวลา ๑๔ นาฬิกา วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ กระบวนแห่นั้นปรากฏในหมายรับสั่งว่า มีพระบรมราชโองการให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการจัดการเล่นต่างๆ ส่วนตำนานพระศรีมหาโพธินั้น มีแจ้งอยู่ในพระราชปรารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพิมพ์ไว้ในหนังสือนิบาตชาดกเล่มต้น ได้คัดมาโดยเฉพาะดังนี้

พระศรีมหาโพธิวัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพันธุ์พระศรีมหาโพธิที่พระพุทธคยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเพาะเม็ด ครั้นเมื่อเพาะขึ้นเป็นต้นแล้ว ข้าพเจ้าได้ขอพระราชทานไว้ ๓ ต้น ได้ปลูกไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาสต้นหนึ่ง วัดมณีชลขันธ์ต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งนั้นปลูกไว้ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ต้นหลังที่เหลือจากเลือกแล้ว ๒ ต้นกลับงามดีกว่าต้นอื่นๆ พระศรีมหาโพธินี้ ได้งอกขึ้นราวกันกับเมื่อพระลูกหญิงศรีวิลัย ประสูติ

ตามกระแสพระราชปรารภนี้ ได้ความว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเพาะเม็ดพระศรีมหาโพธิงอกขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๑๑ นับแต่เริ่มงอกขึ้น และต่อมาจนถึงเวลาที่โปรดเกล้า ณ ให้เชิญไปปลูกที่วัดเทพศิรินทร์นั้น พระศรีมหาโพธิมีอายุ ๑๐ ปี กำลังงาม และต้นที่ปลูกในวัดนี้แต่เดิมงามดีกว่าต้นที่ปลูกในวัดนิเวศธรรมประวัติ ภายหลังเมื่อปลูกแล้ว ต่อมาต้นที่ปลูกในวัดนิเวศธรรมประวัตินั้น กลับเติบโตงดงามกว่า ข้อนี้เป็นด้วยที่วัดนี้ก่อฐานสูงหุ้มดินไว้ จึงทำให้พระศรีมหาโพธิไม่ค่อยงาม ส่วนที่วัดนิเวศธรรมประวัติไม่ก่อฐาน ปลูกลงที่พื้นดิน และใกล้แม่น้ำ รากเลื้อยทอดไปได้สะดวก จึงเลี้ยงลำต้นขยายตัวเติบโตดีกว่ากัน ถึงปีนี้ (พ.ศ.๒๔๗๗) นับว่าพระศรีมหาโพธิมีอายุได้ ๖๗ ปี (แก่กว่าอายุวัดเทพศิรินทร์ ๑๐ ปี) วัดจากพื้นบนของฐานจนสุดยอดพระศรีมหาโพธิ ๑๒.๒๑ เมตร ตอนระหว่างฐานพระศรีมหาโพธิกับต้นนิโครธซึ่งเป็นนิมิตสีมาทิศบูรพา ปลูกโรงอุโบสถชั่วคราวขึ้นหลังหนึ่ง ยกพื้น ฝาไม้ หลังคามุงจาก มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ ทาสีแดง เรียกกันในครั้งนั้นว่า โบสถ์เล็กบ้าง โบสถ์จากบ้าง สำหรับเป็นที่ทำอุโบสถสังฆกรรมไปพลางจนกว่าจะสร้างพระอุโบสถสำเร็จ ถัดจากฐานพระศรีมหาโพธิไปทางใต้ซึ่งจะสร้างพระปรางค์นั้น ยังไม่ได้เริ่มการฝังรากลงเข็ม ถึงในบริเวณใต้ก็ยังไม่ได้สร้างหมู่กุฎีส่วนบริเวณหน้าวัดครั้นนั้นยังไม่ได้ก่อกำแพงล้อม ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมสร้างศาลาท่าฉนวน ๓ หลัง เป็นศาลาโถงตรีมุข ยกพื้น ก่ออิฐถือปูน มีพนังรอบเสาไม้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน ไว้ระยะตรงกับประตูกำแพงวัดชั้นในทั้ง ๓ หลัง (ในเวลานั้นเสด็จพระราชทานพระกฐินโดยทางชลมารค) และพูนดินเป็นถนนตรงไปประตูนั้นๆ ไว้ด้วย จึงมีถนนในบริเวณหน้าวัด ๓ สายที่ริมถนนสายกลางตอนนอก สร้างศาลาดินไว้ข้างละหลัง สำหรับเป็นที่พักข้าราชการในเวลารับเสด็จที่ริมถนนสายใต้ (ตรงที่สร้างตึกเยาวมาลย์อุทิศซึ่งปรากฏอยู่บัดนี้) สร้างศาลาดินอีกหลังหนึ่งแต่ไม่ได้ใช้ในการอื่น นอกจากเป็นที่เก็บสัมภาระในการก่อสร้าง ระหว่างถนนสายเหนือกับสายกลางมีฝรั่งมาขอขุดหลุมเผาแก็สใช้ในการขึ้นบัลลูน เสร็จแล้วคนวัดขุดทำบ่อน้ำเล็กกรุอิฐถือปูน (บัดนี้กลบดินทับเสียแล้ว) ริมถนนสายกลางถัดศาลาดินเข้ามา ปลูกพลับพลายกตรีมุข หลังคามุงจากช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ทาสีแดงหลังหนึ่ง ข้างหลังมีชานต่อกับพลับพลา ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบอีกหลังหนึ่ง พลับพลานี้ปลูกไว้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินทางก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๑ ในครั้งต่อ ๆ มาเสด็จพระราชดำเนินบ้าง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์บ้าง พระอุดมศีลคุณเล่าว่าพระราชพิธีก่อพระเจดีย์ทรายนี้ ภายหลังเมื่อทรงเริ่มสถาปนาวัดเบญจม-บพิตร โปรดให้เลื่อนไปทำที่วัดนั้นแทน ส่วนในวัดนี้เป็นอันงดแต่นั้นมา (ในระหว่างที่การเปรียญยังสร้างไม่เสร็จในยุคที่ ๑ ฝ่ายวัดได้อาศัยพลับพลานี้เป็นโรงเรียนชั่วคราว และต่อมารื้อเสียในยุคที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เพราะโปรดให้มีการพระเมรุ เป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาศ ในบริเวณหน้าวัดปลายปีนั้น) การก่อพระเจดีย์ทรายนั้น นับว่ามีประโยชน์หลายประการนอกจากเป็นเครื่องส่งเสริมเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันเป็นที่เคารพ และนอกจากได้ทรายกับทั้งทรัพย์ที่บริจาคสมทบในการก่อสร้างนั้นแล้ว ยังมีประโยชน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการโฆษณาเผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้จักวัดและชักนำให้มาติดต่อคุ้นเคยไว้ เพื่อจะได้หาโอกาสมาช่วยกันทำนุบำรุงตามสมควรต่อไป รายงานการก่อสร้างพระเจดีย์ทรายนี้ ทุกๆ ครั้งมีประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ได้คัดสำเนารายงานการก่อพระเจดีย์ทรายครั้งแรก ซึ่งมีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕ หน้า ๔๔ (จ.ศ. ๑๒๔๐) มาไว้เป็นตัวอย่างในที่ด้วยว่า

ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล ยังเป็นนพศกศักราช ๑๒๓๙ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลภูลสวัสดิ์ สั่งให้นายด้านปลูกพลับพลา ๕ ห้อง เฉลียงรอบ มีอาสน์สงฆ์ แขวนโคมแก้ว เชิญพระไชยในแผ่นดินปัจจุบัน สถิตบนโต๊ะหมู่จำหลักลายทอง ตั้งเครื่องแก้วเจียระไนต่างๆ สนมพลเรือนตั้งเครื่องนมัสการทองคำเครื่องห้า พระวุฒิการบดีนิมนต์พระพรหมมุนีมาเป็นอธิบดีสงฆ์ พระเทพโมลี พระครูฐานา รวม ๒๐ รูป พร้อมกันบนพลับพลาวัดเทพศิรินทราวาส พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนพร้อมกัน ก่อพระเจดีย์ทรายภายในลานวัดเทพศิรินทราวาส เพลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลภูลสวัสดิ์ โปรดให้จุดเทียนเครื่องนมัสการ พระพรหมมุนีถวายศีล แล้วสวดสัตตปริตร รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางประตูพรหมโสภา ประทับเรียกพระสุพรรณรัตนพิจิตร สั่งให้จัดโต๊ะกาทองคำจำหลัก พระราชทานพระอมรวิสัยสรเดช แล้วทรงรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยตำรวจทหารขี่ม้าแห่นำตามเสด็จ เสด็จทางประตูพิมานไชยศรี เลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร เสด็จทางชลมารค เลี้ยวถนนบำรุงเมือง ตรงไปสะพานเหล็กวัดสระเกศ ประทับวัดเทพศิรินทราวาส เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลา ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พระหรหมมุนีถายศีล ครั้นทรงศีลแล้ว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสด็จพระราชดำเนินทรงปิดทองพระปฎิมาฉลองพระองค์กรสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์แล้ว ทรงปิดทองพระยืนทรงเครื่องฉลองพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี เจ้าพนักงานแตรสังข์พิณพาทย์ ก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน ครั้นทรงปิดทองเสร็จแล้ว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระเจ้าน้องยาเธอ ไปปิดทองพระพุทธปฎิมาทั้งสองพระองค์ ครั้นพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระราชทานหมากพลูธูปเทียนสบง พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลภูลสวัสดิ์ น้อมเกล้าฯ ถวายคำนับ มีความดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าราชบัณฑิตย์ กรมวังมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานตรวจพระเจดีย์ทราย พระมหาธาตุ ๑ บริวาร ๕๒ รวม ๕๓ องค์ และพระเจดีย์ทราย พระบรมวงศานุวงศ์กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน ซึ่งได้มาก่อพระเจดีย์ทรายในวัดเทพศิรินทราวาส ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจพระเจดีย์ทรายได้ ๗,๐๗๒ องค์ ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล ขอเดชะฯ ประทับอยู่จนเพลาบ่ายโมงเศษ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ในกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล หม่อมลัด กับหม่อมเจ้าชายหญิงในกรมของท่าน พากันไปก่อพระเจดีย์ทราย รวมเงินสองตำลึงในกรมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เจ้าจอมมารดา-น้อย ๑ หม่อมเจ้าจังหวัด ๑ หม่อมเจ้าเจริญ ๑ หม่อมเจ้าเมฆิน ๑ หม่อมเจ้าชิดเชื้อ ๑ หม่อมเจ้าวิชากร ๑ หม่อมเจ้าหญิงราศรี ๑ หม่อมเจ้าหญิงสำองค์องค์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงกานดาดวง ๑ หม่อมเจ้าหญิงเยาวเรศ ๑ หม่อมเจ้าหญิงยุภาพิน ๑ หม่อมเจ้าหญิงปฤษฎางค์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงไพ ๑ พร้อมกันได้ก่อพระเจดีย์ทราย รวมเงินสามตำลึงบาท ในกรมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล หม่อมเจ้าหญิงสุคนธราศรี ๑ หม่อมราชวงศ์สวน ๑ หม่อมไผ่ ๑ ขลิบนางนม ๑ พร้อมกันก่อพระเจดีย์ทราย รวมเงินสองตำลึง ในกรมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ หม่อมเจ้าพิศวง ๑ หม่อมเจ้าวงศ์วิจิตร ๑ พร้อมกันก่อพระเจดีย์ทราย รวมเงินสองตำลึง ในกรมพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลภูลสวัสดิ์ เจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ก่อพระเจดีย์ทรายรวมเงินสองตำลึง หม่อมกรุงก่อพระเจดีย์ทราย เงินกึ่งตำลึง หม่อมเจ้าอันก่อพระเจดีย์ทรายเงินบาทหนึ่ง หม่อมเจ้าบันก่อพระเจดีย์ทราย เงินบาทหนึ่ง หม่อมเจ้าจันทรก่อพระเจดีย์ทรายเงินบาทหนึ่ง หม่อมเจ้าสุบรรณก่อพระเจดีย์ทราย เงินบาทหนึ่ง หม่อมเจ้าจำรัสก่อพระเจดีย์ทรายเงินบาทหนึ่ง หม่อมเจ้ารสก่อพระเจดีย์ทราย เงินบาทหนึ่ง เย็นภริยาพระยารัตนโกษาก่อพระเจดีย์ทราย รวมเงินสามตำลึงบาท จุ้ยภริยาพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองก่อพระเจดีย์ทรายรวมเงินสองตำลึง หลวงโยธาภิบาล กัปตันสต๊าปก่อพระเจดีย์ทราย เงินสองสลึง นายยิ้ม เล็บเตอร์แนน กรมทหารม้าหน้าก่อพระเจดีย์ทราย เงินสองสลึง มีจิตศรัทธาพร้อมกันไปก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดเทพศิรินทราวาสในรายงานก่อพระเจดีย์ทราย ปรากฏว่าได้ทรงปิดทองพระปฏิมาฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เนื่องในการพระราชกุศลนั้นด้วย พระปฎิมา ๒ องค์นี้ โปรดให้สร้างตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อยืน ปางห้ามสมุทร ฐานสูง ๔๔ เซนติเมตร องค์สูง ๑.๗๓ เมตร ฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อยืนทรงเครื่อง ปางห้ามพระญาติ ฐานสูง ๔๐ เซนติเมตร องค์สูง ๑.๕๐ เมตร ฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ โปรดให้เชิญมาไว้ก่อนแล้ว ประดิษฐานอยู่ที่พลับพลา เฉพาะในคราวก่อพระเจดีย์ทราย พ้นจากเวลานั้นก็เชิญไปประดิษฐานไว้ในโบสถ์เล็กเมื่อการสร้างเสนาสนะในคณะเหนือจวนจะเสร็จ ทรงสอดส่องหาพระที่ควรจะเป็นเจ้าอาวาสทรงพระราชดำริเห็นพระครูพุทธมนต์ปรีชา (อายุวฑฒโน เอม) วัดบวรนิเวศวิหาร ฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นผู้มีพรรษายุกาลปูนผู้ใหญ่กอปรด้วยจริยาวัตรน่าเลื่อมใส อุตสาหะเล่าเรียนพระธรรมวินัย มีความรู้กว้างขวาง สามารถเป็นนิสิตาจารย์ของกุลบุตร ชักนำพุทธศาสนิกชนให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความนิยมในธรรมานุธรรมปฏิบัติ ทั้งเป็นผู้ทราบระเบียบกิจวัตรขนบธรรมเนียมเป็นอันดี อาจรักษาการในพระอารามให้เป็นไปสมพระราชประสงค์ เพื่อเฉลิมพระราชศรัทธาตามสัตติกำลัง สมควรเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดเทพศิรินทร์ได้ ถึงวันพุธที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ จึงทรงตั้งให้เป็นพระอริยมุนีที่พระราชาคณะ เมื่อท่านได้รับสัญญาบัตรสมณศักดิ์ที่ทรงตั้งแล้ว ยังคงอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารไปพลางก่อน พระอริยมุนีไม่ได้เป็นเปรียญก็จริง แต่ได้เรียนภาษาบาลีมีความรู้อยู่บ้าง การที่ท่านได้รับตำแหน่งซึ่งโดยมากโปรดทรงตั้งแต่พระที่เป็นเปรียญนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าทรงยกย่องท่านเป็นพิเศษ แต่ท่านก็ได้พยายามบำรุงการศึกษาภาษาบาลี ถึงกับมีเปรียญได้ทันอายุของท่านนับว่าเป็นการสนองพระเดชพระคุณสมกับที่ทรงยกย่อง

Top

โรงเรียนสายปัญญา

รูปภาพ

โรงเรียนสายปัญญาตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยทายาท พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พร้อมใจกันยกพระตำหนัก พร้อมด้วยที่ดินบริเวณใกล้เคียงให้รัฐบาลเพื่อใช้เป็นสถานศึกษาแก่กุลสตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ปัจจุบันมีเนื้อที่รวม ๔ ไร่ ๒ งาน ๐.๖ ตารางวา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามโรงเรียนว่า “สายปัญญา” พ.ศ. ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินเพิ่มเติมด้านทิศตะวันตก พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สัญลักษณ์ของโรงเรียน จึงอัญเชิญพระมหามงกุฎ และพระปรมาภิไธยย่อ ส.ก. ประดิษฐ์เหนือโล่สายฟ้า โรงเรียนสายปัญญาผลิตกุลสตรี ซึ่งเป็นสตรีนักพัฒนาชั้นนำของประเทศมาเป็นเวลากว่า 80 ปี ศิษย์เก่าหลายท่านยังกลับมาช่วยเหลือ และสนับสนุนโรงเรียนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

Top

สถานีรถไฟกรุงเทพฯ

รูปภาพ

สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตั้งอยู่มุมถนนพระรามที่ ๔ ริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ใกล้กับสะพานเจริญสวัสดิ์ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน เรียกกันเป็นสามัญว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง

สถานีรถไฟกรุงเทพฯ สร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะการก่อสร้างเป็นรูปโดมแบบ Italian Renaissance เดิมเป็นสถานีผสมซึ่งมีทั้งกิจการด้านโดยสารและสินค้า ต่อมาการขยายตัวในด้านการโดยสารและสินค้ามีมากขึ้น แต่พื้นที่ย่านสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ซึ่งมีเพียง ๑๒๐ ไร่ ไม่สามารถขยายได้อีก ประกอบกับความคับคั่งของการจราจรในท้องถนนบริเวณหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ มีมากขึ้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้พิจารณาย้ายกิจการสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธินตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และดำเนินการการปรับปรุงผังย่านสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ใหม่ เพื่อให้เป็นสถานีสำหรับกิจการโดยสารโดยเฉพาะ โดยขยายทางผ่านให้กว้างใหญ่ขึ้น แต่มิได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารด้านหน้าของสถานีแต่อย่างใด

Top

วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

รูปภาพ

เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ ยังทรงผนวชอยู่ได้เคยเสด็จมาพระราชทานผ้าป่าแก่วัดแห่งนี้ พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆ นี้" พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่" หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่

จิตรกรรมฝาผนัง มีความโดดเด่นในการเขียนธรรมชาติและใช้สีสลัวๆ โดยเขียนเรื่องธุดงควัตร ๑๓ และการไปสืบพระพุทธศาสนา ต่างจากวัดอื่นที่นิยมเขียนเรื่องทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติ

พระอุโบสถ สร้างเป็นรูปโถงตลอด หลังคาลด ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันสลักเป็นรูปมงกุฎมีฉัตรขนาบประดิษฐานในบุษบกอันเป็นพระลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๔

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ แบ่งเป็น ๒ ช่วง ฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระปรางค์ มี ๔ องค์ มีขนาดใหญ่เล็กเรียงกัน ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์กับวิหารเหนือ

Top

โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม

รูปภาพ

โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์เดิมเปิดทำการ สอน เป็นโรงเรียนพาณิชยาการ ต่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ กระทรวงศึกษาธิการให้งบประมาณ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อทำการซ่อมใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤตาราม ขึ้นตรงต่อกรมสามัญศึกษา (เดิม) เริ่มรับสมัครนักเรียนเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เปิดสอนวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ นางสุภาพ ตีระนันนท์ เป็นครูใหญ่ แรกเปิดเรียนรับนักเรียนที่มีอายุ ๖ ปีขึ้นไปทั้งหญิงและชาย ให้นักเรียนอยู่ได้อายุไม่เกิน ๑๒ ปี สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ต่อมาเพิ่มชั้นเรียนขึ้นตามลำดับจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘

·      พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เปิดชั้นเรียนเพิ่มขึ้นถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา

·      พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื่องจากการส่งหนังสือราชการเกิดการสับสน กับโรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม (สังกัด กทม.) จึงขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนสตรีพฤฒาราม”

Top

สะพานพิทยเสถียร

รูปภาพ

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ถนนเจริญกรุงสะพานนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมือโปรดให้ประกาศบอกบุญผู้มีศรัทธา ให้ช่วยกันสร้างสะพานข้ามคลองในพระนครนั้น สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ได้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กคู่กับสะพานดำรงสถิต เรียกว่าสะพานเหล็กล่างมีล้อและรางเหล็กสำหรับเปิดสะพานให้แยกออกจากกันได้ ในสมัยรัชกาลที่๕ได้โปรดให้กรมโยธาธิการสร้างใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นสะพานโครงเหล็กเปิดปิดได้พระราชทานนามว่าสะพานพิทยเสถียร เพื่อเป็นเกียรติให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดาซึ่งเป็นวังที่ประทับอยู่บริเวณใกล้เคียง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ต่อมาในสมัยรัชการที่ ๖ โปรดให้ปรับปรุงสะพานใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กลักษณะเป็นศิลปกรรมแบบยุโรป มีคานล่างเป็นรูปโค้ง เสาลูกกรง และเสาโคมไฟฟ้าทั้ง ๘ ต้นมีลวดลายตกแต่งที่ปลายสะพานมีลายหัวสิงห์ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ